4 ทริคอ่านหนังสือสอบ จำแม่น สมองไว ผลวิจัยพิสูจน์แล้ว!

คนที่ต้องอ่านหนังสือสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้ามัธยมหรือมหาวิทยาลัย อาจเคยประสบปัญหาในการอ่านหนังสือกันมาบ้าง เช่น เนื้อหาเข้าใจยาก เนื้อหาที่ต้องอ่านมีจำนวนมาก ต้องสอบหลายวิชาในวันเดียว นอกจากนั้น เมื่ออ่านหนังสือสอบอย่างต่อเนื่อง สมองก็อาจอ่อนล้า ไม่กระปรี้กระเปร่า ทำให้จดจำเนื้อหาได้ไม่นานก็ลืม หรือจำเนื้อหาได้ไม่ครบถ้วน

Study for Exam

ในบทความนี้รวบรวมทริคอ่านหนังสือที่ช่วยให้เตรียมตัวสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันจำกัด และมีผลวิจัยรองรับว่ามีส่วนช่วยให้สมองไว อาจช่วยให้อ่านหนังสือแล้วจดจำได้ดีขึ้น เข้าใจเนื้อหาได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น

เทคนิคอ่านหนังสือสอบที่ได้รับการศึกษาและวิจัยถึงประสิทธิภาพในการเสริมความจำหรือบูสต์สมองขณะเตรียมตัวสอบนั้นมีหลายวิธีให้ลองนำไปใช้กัน  

1. พูดออกมาดัง ๆ แทนการอ่านในใจ

ใครที่ชอบอ่านในใจอาจจะต้องลองพูดออกมาดัง ๆ ดูบ้าง เนื่องจากมีงานวิจัยจากประเทศแคนาดาพบว่า การอ่านออกเสียงดังช่วยเพิ่มการจดจำเนื้อหาที่เราอ่านหนังสือสอบได้เป็นอย่างดี และนอกจากการพูดเนื้อหานั้น ๆ ทบทวนกับตัวเองแล้ว นักการศึกษาและนักจิตวิทยายังแนะนำให้ลองพูดสอนหรือทวนกับคนอื่น ๆ ด้วย เพราะอาจช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาและจดจำได้ดีขึ้น  

2. ร้องเพลงแทนการอ่าน

หากลองสังเกตดี ๆ จะพบว่าเราจดจำเนื้อเพลงที่ชอบได้เป็นอย่างดี เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับมายาวนาน ซึ่งผลการวิจัยหลายชิ้นเผยให้เห็นว่า เพลงมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของสมองด้านความจำ สมาธิ และฟื้นฟูสภาวะทางอารมณ์ ความเครียด หรือวิตกกังวลได้ด้วย โดยตัวอย่างเพลงซึ่งช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายที่หลายคนคุ้นเคยก็เช่น เพลง ABC 

โดยผู้ที่เตรียมสอบอาจสรุปเนื้อหาวิชาที่ต้องอ่าน แล้วนำมาใส่ในทำนองเพลงที่จดจำได้ง่าย กลายมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาต่าง ๆ เช่น เพลงท่องสูตรคูณ เพลงรวมศัพท์ภาษาอังกฤษแต่ละหมวด เพลงหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เพลงท่องตารางธาตุ จะช่วยให้การอ่านหนังสือสอบเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้และจดจำได้ดีขึ้น  

3. จำเป็นตัวย่อ

ตัวย่อเกิดจากการนำตัวอักษรแรกของแต่ละคำหรือวลีมาเรียงต่อกัน กลายเป็นคำที่สั้นลงและหรือเข้าใจง่ายมากขึ้น ตัวอย่างตัวย่อที่ใช้การอ่านหนังสือสอบ เช่น 

  • FANBOYS เป็นตัวย่อที่ช่วยให้จำคำสันธานภาษาอังกฤษได้ง่าย มาจากคำว่า For, And, Nor, But, Or, Yet, และ So
  • FAST คำนี้เป็นหลักในการสังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมอง มาจากคำว่า Face (ใบหน้าและปากเบี้ยว), Arm (แขนขาไม่ขยับ), Speech (พูดไม่ชัด), Time (รีบส่งโรงพยาบาล)
  • PEMDAS คำนี้ช่วยในการจำลำดับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยเริ่มจาก Parentheses (เลขในวงเล็บ), Exponents (เลขยกกำลัง), Multiply or Devide (คูณหรือหาร), และ Addition or Subtraction (บวกหรือลบ)

โดยมีหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่บ่งบอกว่า วิธีการจำเป็นตัวย่ออาจช่วยเสริมความสามารถในการจดจำและจำได้เก่งขึ้นด้วย จึงเป็นวิธีอ่านหนังสือสอบวิธีหนึ่งที่ไม่ควรพลาด       

4. หยุดกินของหวาน

หลายคนอาจเลือกดื่มน้ำหวานหรือกินของหวานในช่วงอ่านหนังสือสอบ แต่รู้หรือไม่ว่า น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มอาจส่งผลเสียต่อสมองด้านความจำ อารมณ์ รวมถึงร่างกายของเราได้ หากรับประทานมากเกินไป จึงจะดีกว่าหากเปลี่ยนจากน้ำตาลไปเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารอาหารบำรุงสมอง เช่น ซุปไก่สกัดที่มีคาร์โนซีน (Carnosine) 

คาร์โนซีนเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างเองได้ มักพบที่สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แต่ปริมาณจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น อีกทั้งยังมีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์อย่างเนื้อไก่ เนื้อวัว โดยจัดเป็นไดเปปไทด์ขนาดเล็กที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และมีประโยชน์ต่อการบำรุงสมอง เช่น บูสต์การทำงานของสมอง ช่วยให้สมองเฟรช กระปรี้กระเปร่า และจดจำเนื้อหาที่อ่านได้ดีขึ้น จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการโฟกัสกับการสอบอย่างมาก

โดยมีงานวิจัยประสิทธิภาพของซุปไก่สกัดชิ้นหนึ่งที่ศึกษาคนดื่มซุปไก่สกัดทุกวันต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ พบว่ามีความจำที่ดีขึ้น และคาร์โนซีนในซุปไก่สกัดยังมีส่วนช่วยเสริมความจำระยะสั้นในคนที่เผชิญกับความเครียดในแต่ละวันด้วย

แนะนำให้คนที่กำลังเรียนหนักหรือต้องเตรียมสอบดื่มซุปไก่สกัดในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ระบุบนฉลาก โดยอาจเลือกรับประทานซุปไก่สกัดในตอนเช้า เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำตลอดวัน สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ 

สิ่งสำคัญในช่วงอ่านหนังสือสอบคือต้องไม่ลืมดูแลตัวเองในทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพื่อให้กายและใจแข็งแรง เสริมแกร่งให้สมองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสู้ในทุกสนามสอบ

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัปเดทล่าสุด 2 สิงหาคม 2567
ตรวจสอบความถูกต้องโดย กองบรรณาธิการทางการแพทย์ POBPAD