5 สารเคมีในชีวิตประจำวัน อันตรายกว่าที่คิด

สารเคมี (Chemicals) อาจฟังดูอันตราย แต่ในความเป็นจริง สารเคมีทั้งแบบสังเคราะห์และแบบธรรมชาติล้วนจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ขณะเดียวกันหากมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้ สารเคมีในชีวิตประจำวันจึงเปรียบเสมือนดาบสองคมที่อาจทำให้เกิดอันตรายตามมาหากใช้อย่างไม่ระวัง

รายงานการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการสัมผัสกับสารเคมีในชีวิตประจำวัน พบว่าสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย คลอรีน กรดไฮโดรคลอริก และกรดกำมะถัน ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่ได้รับสารเคมีเหล่านี้อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับอันตรายจากสารเคมี บทความนี้จะพามารู้จักกับสารเคมีในชีวิตประจำวัน ผลกระทบต่อสุขภาพ และวิธีที่จะช่วยลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน

5 สารเคมีในชีวิตประจำวัน

รู้จักสารเคมีในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น

สารเคมีเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในทุกสิ่งรอบตัวมนุษย์ อาจมาในรูปแบบของควัน ก๊าซ ของเหลว หรือผสมอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อไปนี้คือสารเคมีในชีวิตประจำวันและผลต่อสุขภาพ

1. คาร์บอนมอนอกไซด์

คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide: CO) เป็นก๊าซไม่มีสีและไม่มีกลิ่น คนมักได้รับก๊าซชนิดนี้จากการเผาไหม้ของน้ำมันหรือเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ไอเสียรถยนต์ เครื่องยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

คาร์บอนมอนอกไซด์มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมเนื่องจากมีสถานะเป็นก๊าซ ระบบทางเดินหายใจจึงเป็นส่วนแรกที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีชนิดนี้ การสูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์จะส่งผลต่อการหายใจโดยเข้าไปขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนที่ไปเลี้ยงร่างกายจนอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ

ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสนมึนงง ตัวแดง หน้าแดงคล้ายสีของลูกเชอร์รี่ (Cherry Red Skin) และหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปในคราวเดียวอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ และเสียชีวิตได้

สารเคมีในชีวิตประจำวันชนิดนี้เกิดจากการคมนาคมและอุตสาหกรรมจึงทำให้ยากต่อการหลีกเลี่ยง โดยทั่วไปร่างกายมักได้รับสารชนิดนี้เพียงเล็กน้อยต่อวันจึงไม่ส่งผลเสียให้เห็นชัดเจน แต่ในระยะยาวอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะคนบางกลุ่มที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการสูดดมก๊าซพิษสูงกว่ากลุ่มอื่น จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง เช่น เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคโลหิตจาง และโรคระบบทางเดินหายใจ 

ในเบื้องต้นสามารถลดการสัมผัสกับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือพื้นที่ใกล้โรงงาน หมั่นตรวจสอบดูแลเครื่องยนต์รถและเครื่องจักรให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอเพื่อช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ และอาจช่วยลดความเข้มข้นของคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศได้ หรืออาจเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่เดิมใช้น้ำมันหรือเชื้อเพลิงในการทำงานเป็นใช้ไฟฟ้าแทน

2. แอมโมเนีย

หลายคนอาจคุ้นชื่อของแอมโมเนีย (Ammonia) เพราะสารเคมีในชีวิตประจำวันชนิดนี้เป็นส่วนผสมในของใช้หรือผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและมีกลิ่นฉุน

การสูดดมหรือสัมผัสโดนผิวหนังอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง และแสบจมูกเมื่อสูดดม ในกรณีสัมผัสกับแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ อย่างจมูก ปาก ลำคอ ปอด ส่งผลให้คอบวม ไอ น้ำท่วมปอด หากสัมผัสโดนผิวหนังและดวงตาอาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นแผลพุพอง ตาบอด และหากสูดดมปริมาณมากหรือรับประทานอาจทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายเสียหายและเสียชีวิตได้

บางกรณีแอมโมเนียความเข้มข้นต่ำก็ถูกนำมาใช้ปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติ เนื่องจากการสูดดมแอมโมเนียในปริมาณเล็กน้อยจะทำให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งกระตุ้นการทำงานของระบบการหายใจ

อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีชนิดนี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบอยู่บ่อยครั้ง เช่น พนักงานทำความสะอาดที่ใช้ต้องผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายประเภท และชาวไร่ชาวสวนที่ต้องสัมผัสปุ๋ย

3. คลอรีน

หลายคนอาจนึกถึงสารคลอรีน (Chlorine) เมื่อเห็นสระว่ายน้ำสีฟ้าสดใส จริง ๆ แล้วคลอรีนเป็นสารทำความสะอาดประเภทหนึ่ง เดิมทีอยู่ในรูปของก๊าซที่มีความเป็นพิษสูง แต่ก็พบในรูปของเหลวได้เช่นกัน ผลิตภัณฑ์ที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ น้ำยาฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำ น้ำยาทำความสะอาด สารฟอกขาว และน้ำยาทำละลาย การผลิตน้ำดื่มก็มีการใช้คลอรีนในการฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในปริมาณที่ต่ำและไม่ส่งผลต่อร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การสัมผัสกับคลอรีนที่มีความเข้มข้นสูงไม่ว่าในรูปแบบใดก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ผิวหนังอาจเกิดอาการแสบร้อน มีแผลพุพอง ตาพร่า แสบตา แสบจมูกและลำคอ ไอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด คลื่นไส้อาเจียน ในรายที่รุนแรงอาจสูญเสียการมองเห็นหรือเสียชีวิต

4. กรดไฮโดรคลอริก

กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric Acid) เป็นอีกหนึ่งสารเคมีในชีวิตประจำวันที่พบได้บ่อย มีลักษณะเป็นของเหลวที่ข้นหนืด อาจมีสีใสหรือสีเหลือง และพบได้ในรูปแบบก๊าซเช่นกัน มักเป็นส่วนประกอบในผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องเคลือบ น้ำยาสำหรับสระว่ายน้ำ และปุ๋ย 

กรดชนิดนี้เป็นพิษและมีฤทธิ์กัดกร่อน หากผิวหนังสัมผัสโดนกรดไฮโดรคลอริกในระดับที่เข้มข้นจะทำให้เกิดแผลพุพอง ปวดแสบปวดร้อน เมื่อสัมผัสถูกดวงตาอาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบและตาบอด และหากรับประทานจะมีอาการแสบร้อนในลำคอ ปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด เจ็บหน้าอกรุนแรง ช็อก และเสียชีวิต อีกทั้งการสูดดมกรดไฮโดรคลอริกอาจทำให้เกิดอาการไอ ไอเป็นเลือด สำลัก แน่นหน้าอก เวียนหัว หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

5. กรดกำมะถัน

กรดกำมะถันหรือกรดซัลฟูริก (Sulfuric Acid) มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากรดแบตเตอรี่ (Battery Acid) เพราะกรดชนิดนี้สามารถทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้เกิดความร้อนและใช้ร่วมกับแบตเตอรี่รถยนต์บางชนิด

กรดกำมะถันพบได้ทั้งรูปของเหลวที่ข้นหนืดคล้ายน้ำมัน ก๊าซ และของแข็ง สารเคมีในชีวิตประจำวันชนิดนี้มีปฏิกิริยาทางเคมีที่รุนแรงเมื่อสัมผัสกับน้ำและมีฤทธิ์กัดกร่อนที่เป็นอันตราย กรดกำมะถันพบได้ในแบตเตอรี่รถยนต์ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ และปุ๋ยบางชนิด

คนส่วนใหญ่อาจได้รับกรดกำมะถันผ่านการสูดดมและการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูกและลำคออย่างรุนแรง เยื่อบุตาอักเสบ ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากกรดที่มีความเข้มข้นสูงสัมผัสถูกดวงตาโดยตรงอาจทำให้ตาบอดได้

ในกรณีที่รับประทาน กรดกำมะถันจะกัดกร่อนเนื้อเยื่อทำให้เกิดอาการแสบร้อนในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง และทำให้เสียชีวิต นอกจากนี้กรดกำมะถันยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง หากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด

กรดกำมะถันหรือกรดซัลฟูริกนี้ยังเป็นสาเหตุของอาการแสบตาหรือน้ำตาไหลเวลาหั่นหอมหัวใหญ่ โดยการหั่นจะทำให้เกิดละอองของสารเคมีบางอย่างในหอมหัวใหญ่ลอยเข้าสู่ดวงตา เมื่อสารดังกล่าวสัมผัสกับน้ำในตาจะแปรสภาพเป็นกรดกำมะถันและทำให้แสบตาได้ แต่การสัมผัสกับกรดกำมะถันที่เกิดจากสารในหอมหัวใหญ่ทำปฏิกิริยากับน้ำในดวงตาไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ

เรื่องควรระวังจากการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน

จากรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้สารเคมี พบว่าสาเหตุหลักมาจากอุปกรณ์ทำงานขัดข้องทำให้สารเคมีรั่วไหลจนทำให้เกิดอันตราย รองลงมาเกิดจากความไม่พร้อมของผู้ใช้ (Human Error) โดยทั้งสองสาเหตุอาจเกิดร่วมกันได้ ดังนั้นการใช้สารเคมีในการทำงานหรือชีวิตประจำวันต่างต้องใช้ความระมัดระวังทั้งสิ้น

อาจลดความเสี่ยงไม่ให้อุปกรณ์ทำงานขัดข้องด้วยการหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ตามระยะเวลาที่กำหนดหรือทุกครั้งก่อนเริ่มใช้งาน และเพิ่มความพร้อมของผู้ใช้ด้วยการศึกษาวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง และใช้งานอย่างระมัดระวังรอบคอบ

วิธีป้องกันอันตรายจากสารเคมีในชีวิตประจำวัน

เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • อ่านวิธีใช้บนฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำเสมอ โดยเฉพาะข้อควรระวังและวิธีปฐมพยาบาล
  • เก็บอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีไว้ในที่ที่เหมาะสม ห่างจากแสง ความร้อน ความชื้น และเก็บให้พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือ หรือชุดป้องกันทุกครั้งที่ใช้สารเคมี โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ 
  • หากผิวหนังหรือดวงตาสัมผัสกับสารเคมี ควรล้างน้ำสะอาดต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาทีและไปพบแพทย์ทันที
  • หากสูดดมสารเคมีหรืออยู่ในบริเวณที่มีก๊าซเคมีรั่วไหล ควรไปในที่ที่มีอากาศถ่ายเทและไม่ปนเปื้อนสารเคมี ถ้าเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากรับประทานสารเคมีเข้าไป ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลทันที ระหว่างนั้นห้ามล้วงคอหรือทำให้อาเจียนเพราะอาการอาจรุนแรงขึ้น หากผู้ประสบเหตุยังมีสติ อาจให้ดื่มน้ำหรือนมเพื่อชะลอการดูดซึมพิษจากสารเคมี

สารเคมีในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลิตภัณฑ์จากส่วนประกอบของสารเคมีข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง นอกจากสารเคมีเหล่านี้ ยังมีสารเคมีชนิดอื่นที่ทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน ภาวะพิษที่เกิดจากสารเคมีบางชนิดไม่มียาแก้พิษหรือวิธีการรักษาเฉพาะ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามอาการ ดังนั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น