ตำแหน่งปวดหลัง หมายถึงอาการปวดที่เกิดบริเวณส่วนต่าง ๆ ของหลัง เช่น หลังส่วนบน ส่วนล่าง หรือตรงกลางของแผ่นหลัง ซึ่งอาจช่วยบอกได้ว่าร่างกายกำลังมีปัญหาสุขภาพใดอยู่ และอาจช่วยให้รับมือกับอาการปวดหลังที่รบกวนชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
อาการปวดหลังในตำแหน่งต่าง ๆ มักมีสาเหตุจากการบาดเจ็บหรือแข็งตึงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งอาจเกิดได้เมื่อยกของหนัก สะพายกระเป๋าหนัก หรือนั่งไหล่ห่อ รวมถึงยังอาจมีสาเหตุจากปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังด้วยเช่นกัน แต่บางครั้งอาการปวดหลังที่จุดใดจุดหนึ่งก็อาจเกิดจากอาการปวดของโรคอื่น ๆ ที่ลามมายังแผ่นหลังได้ การรู้สาเหตุของตำแหน่งปวดหลังต่าง ๆ จึงอาจช่วยให้รู้ถึงปัญหาสุขภาพที่แฝงมา
สาเหตุของตำแหน่งปวดหลังจุดต่าง ๆ
อาการปวดหลังสามารถเกิดได้ทั้งส่วนบน ส่วนล่าง ซ้ายหรือขวาก็ได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมีหลายอย่าง และอาจเหมือนหรือต่างกันได้ โดยสาเหตุของอาการปวดหลังในตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้
1. ปวดหลังส่วนบนและส่วนกลาง
ตำแหน่งปวดหลังส่วนบนและส่วนกลางคืออาการปวดที่เกิดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนนอก ซึ่งคืออาการปวดที่เริ่มตั้งแต่ต้นคอไล่ลงมาจนถึงบริเวณซี่โครง อาการปวดหลังในส่วนนี้มักจะไม่เกิดขึ้นบ่อยเท่าอาการปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากร่างกายไม่ได้ใช้งานกระดูกสันหลังส่วนนอกในการขยับตัวมากนัก โดยสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดบริเวณนี้มีหลายอย่าง เช่น
- กล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลังบาดเจ็บหรือแข็งตึงจากการทำงาน ยกของหนัก หรือยกของผิดท่า
- มีลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม (poor posture) เช่น นั่งหลังค่อม ก้มมองโน้ตบุ้คหรือโทรศัพท์นาน ๆ
- ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งเกิดจากท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
- หมอนรองกระดูกทับเส้น (Herniated disk) ซึ่งเกิดจากหมอนรองกระดูกที่เป็นเหมือนเบาะรองข้อต่อสันหลังแต่ละชิ้นเคลื่อนหลุดหรือบวมจากที่เดิม
- กระดูกสันหลังหัก เนื่องจากการบาดเจ็บ เช่น ตกจากที่สูง อุบัติเหตุตอนเล่นกีฬา อุบัติเหตุรถชน
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ซึ่งเกิดจากกระดูกอ่อน และเส้นเอ็นเสื่อมสภาพไปตามวัย
2. ปวดหลังข้างซ้ายบน
ตำแหน่งปวดหลังข้างซ้ายบนเป็นอาการที่นอกจากทำให้ปวดแผ่นหลังฝั่งซ้ายแล้วยังอาจลามไปยังไหล่ได้ด้วย โดยสาเหตุของตำแหน่งปวดหลังบริเวณนี้อาจเหมือนกับตำแหน่งปวดหลังส่วนบนและกลางได้ เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกทั้งคู่ แต่อาการปวดหลังข้างซ้ายบนก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ดังนี้
- กระดูกสันหลังคดไปทางซ้าย (Levoscoliosis) ทำให้ไหล่ แขน เอว ไม่เท่ากัน โดยปกติแล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการปวด แต่เมื่อเข้าช่วงวัยกลางคนกระดูกสันหลังคดก็อาจอาจส่งผลให้ปวดหลังได้
- โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) อาจส่งผลให้ปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากโพรงกระดูกกดทับเส้นไขสันหลังหรือเส้นประสาท ผู้ที่เป็นโรคนี้มักอายุเกิน 50 ปี หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังคด
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้กล้ามเนื้อไวต่อสัมผัส และเกิดอาการปวดขึ้นได้เมื่อกดบริเวณที่มีอาการ
- นิ่วในไต อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องข้างเดียว และลามมายังแผ่นหลังส่วนบนข้างซ้ายได้ โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บเวลาปัสสาวะ ใจสั่น กดตรงที่ปวดแล้วไม่เจ็บ คลื่นไส้อาเจียน
- ตับอ่อนอักเสบ อาจทำให้ปวดท้องข้างซ้ายลามมายังซ้ายบนของหลังได้ และอาการมักจะแย่ลงหลังกินอาหาร อาการอื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน หน้าท้องบวม
3. ปวดหลังข้างขวาบน
สาเหตุของตำแหน่งปวดหลังข้างขวาบนอาจเหมือนกับปวดหลังข้างซ้ายบน หรือตรงกลางได้ เช่น กระดูกเคลื่อนทับเส้น กระดูกสันหลังหัก โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่
- ปอดบวม อาจทำให้เกิดอาการปวดลำตัวช่วงบนลามมายังแผ่นหลังได้ โดยอาจมีอาการไอบ่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้ยิ่งปวดหนักขึ้น
- มะเร็งปอด อาจส่งผลให้อาการปวดหลังข้างขวาบนได้ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้กับกระดูกสันหลังส่วนอก เมื่อมีการแพร่ของมะเร็งจึงอาจทำให้ปอดดันกระดูกสันหลังส่วนนี้และเกิดอาการปวดหลัง
- นิ่วในถุงน้ำดี อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องที่ลามไปยังหลังด้านขวาบนได้ เมื่อนิ่วเข้าไปอุดตันในท่อส่งน้ำดี
- กระดูกสันหลังติดเชื้อ เป็นโรคที่มักจะเกิดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และส่งผลให้ปวดหลังด้านขวาบนได้ โดยอาจมีอาการ ชา ปวดแปลบ หนาวสั่น หรือมีไข้ด้วยเช่นกัน
4. ปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดที่เกิดในตำแหน่งหลังส่วนล่างมักเป็นอาการที่พบได้บ่อย และเกิดมากกว่าปวดหลังส่วนบน เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนล่างหรือช่วงเอวนั้นต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยทรงตัวให้มั่นคง รองรับน้ำหนักร่างกาย และเป็นตัวเชื่อมกล้ามเนื้อกับเส้นเอ็นต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ขยับร่างกายได้อย่างอิสระ
โดยสาเหตุทั่วไปของตำแหน่งปวดหลังบริเวณส่วนล่าง อาจมาจากกล้ามเนื้อแข็งตึงหรือบาดเจ็บจากการใช้งานบ่อย กระดูกเคลื่อนทับเส้น การบาดเจ็บที่หลัง และโรคข้อเสื่อม แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น
- โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylolysis)
- โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)
- การติดเชื้อในไต หรือปัญหาเกี่ยวกับไตอื่น ๆ
- เนื้องอกในกระดูกสันหลัง
- อาการปวดประจำเดือน
- ปวดจากการตั้งครรภ์
วิธีรับมืออาการปวดหลังเบื้องต้น
ถึงแม้ว่าตำแหน่งปวดหลังของแต่ละคนจะต่างกันไป แต่อาการปวดหลังเล็กน้อยจนถึงปานกลางนั้นสามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยผู้ที่มีอาการปวดอาจใช้การประคบร้อนหรือประคบเย็นบนจุดที่ปวด กินยาแก้ปวดหลัง และพักผ่อนให้มาก ๆ นอกจากนี้ผู้ที่ปวดหลังยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ท่านั่ง ท่ายกของ หรือออกกำลังกายและลองเล่นโยคะเพื่อป้องกันอาการปวดหลังในตำแหน่งต่าง ๆ ได้เช่นกัน
อาการปวดหลังส่วนใหญ่สามารถบรรเทาได้ และมักจะหายไปเองเมื่อพักผ่อนร่างกาย แต่ควรไปพบแพทย์หากมีอาการปวดหลังรุนแรงที่ไม่หายไปเองหลังผ่านไปหลายสัปดาห์ และควรไปพบแพทย์ในทันทีหากมีไข้ อาการชา แขนขาอ่อนแรงหรือเจ็บ เจ็บหน้าอก ปวดท้องอย่างหนัก กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ หรือเจ็บเวลาปัสสาวะ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างนอกจากปวดหลังทั่วไปได้