6 โรคที่ห้ามกินคอลลาเจน รู้ไว้ปลอดภัยกว่า

โรคที่ห้ามกินคอลลาเจน หมายถึงโรคที่หากเป็นแล้วไม่ควรกินคอลลาเจน หรือควรหลีกเลี่ยงคอลลาเจน รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์ก่อนกิน เนื่องจากการกินคอลลาเจนอาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น อาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้น หรือขัดขวางฤทธิ์ยารักษาที่กินอยู่ได้ ซึ่งโรคหรือภาวะสุขภาพที่ห้ามกินคอลลาเจนมีหลายอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้อาหาร โรคนิ่วในไต โรคไทรอยด์ และโรคอื่น ๆ  

คอลลาเจนป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในร่างกายที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ช่วยทำให้เซลล์ใหม่เติบโต ทำให้ผิวหนังเต่งตึง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายอาจสูญเสียคอลลาเจนไปเรื่อย ๆ ตามวัย ส่งผลให้ผิวไม่เต่งตึงและกระดูกไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เอง และยังสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น หนังไก่ ขาหมู แมงกะพรุน เจลาติน หรือบางคนอาจเลือกกินคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริม 

Diseases to Avoid Collagen

โรคที่ห้ามกินคอลลาเจน ใครบ้างที่ไม่ควรกิน 

คอลลาเจนเป็นอาหารเสริมที่มีผลข้างเคียงน้อย และไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อโรคมาก แต่ก็อาจมีส่วนผสมอื่น ๆ เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และสมุนไพร ที่หากกินแล้วจะส่งผลต่อสุขภาพหรือยารักษาได้ จึงควรรู้ไว้ก่อนกินว่าโรคที่ห้ามกินคอลลาเจน มีดังนี้ 

1. ภูมิแพ้อาหาร

ภูมิแพ้อาหารป็นหนึ่งในโรคที่ห้ามกินคอลลาเจนหรือต้องระมัดระวังในการกินคอลลาเจน เนื่องจากอาหารเสริมคอลลาเจนนั้นมักจะสกัดมาจากสัตว์อย่างไก่หรือปลา ผู้ที่แพ้ไข่ ปลา สัตว์ทะเลที่มีเปลือก เช่น กุ้ง และหอย จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารเสริมคอลลาเจน เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงอาการบวมตามร่างกาย และหายใจลำบาก

2. โรคนิ่วในไต

โรคนิ่วในไตเกิดจากการที่สารออกซาเลต (Oxalate) หรือแคลเซียมตกตะกอนในไตเป็นจำนวนมากจนก่อตัวเป็นผลึกหรือนิ่วขึ้นมา ซึ่งคอลลาเจนเองก็มีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ไฮดรอกซีโพรลีน (hydroxyproline) ที่สามารถแปลงเป็นออกซาเลตได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย โดยจากการศึกษาพบว่าไฮดรอกซีโพลีนปริมาณมากสามารถส่งผลให้ปริมาณออกซาเลตที่ไตต้องขับออกสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดการตกตะกอนของสารได้

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเน้นที่ปริมาณของไฮดรอกซีโพลีนที่ส่งผลต่อไต ทำให้ไม่รู้แน่ชัดว่าการกินอาหารเสริมคอลลาเจนในปริมาณทั่วไปจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณออกซาเลตในไตมากแค่ไหน แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต เช่น ชอบกลั้นปัสสาวะ หรือดื่มน้ำน้อย อาจควรหลีกเลี่ยงการกินคอลลาเจน หรือกินในปริมาณที่เหมาะสมคือ 2.5—15 กรัมต่อวัน 

3. โรคไต

โรคไตเป็นโรคที่ห้ามกินคอลลาเจน เนื่องจากในอาหารเสริมคอลลาเจนอาจมีส่วนผสมอื่นที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและยารักษาโรคได้ ซึ่งส่วนผสมที่ผู้เป็นโรคไตควรระวัง ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินเค นอกจากนี้ ส่วนผสมที่ผู้เป็นโรคไตควรหลีกเลี่ยงหรือกินในปริมาณจำกัด คืออาหารเสริมที่มีสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น เมล็ดทานตะวัน อีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose) ครีเอทีน (Creatine) บาร์เบอรี่ (Barberry) อึ้งคี้ 

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคไตควรปรึกษากับแพทย์ก่อนกินอาหารเสริมใด ๆ เสมอ เพื่อป้องกันผลเสียต่อไตและยารักษา    

4. โรคไทรอยด์

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ทำงานมากหรือน้อยไป ร่างกายก็อาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ขี้ร้อน ขี้หนาว กระตือรือร้นมากไป หัวใจเต้นเร็ว หรือง่วงซึมได้ เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ส่งผลต่อการทำงานในร่างกาย โดยเมื่อมีอาการของไทรอยด์ผิดปกติก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นประจำเพื่อทำการรักษาให้กลับมาเป็นปกติ 

อย่างไรก็ตาม การกินคอลลาเจนอาจทำให้ผลการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนผิดได้ เนื่องจากในอาหารเสริมคอลลาเจนอาจมีส่วนผสมของไบโอติน (Biotin) ซึ่งทำให้ผลตรวจฮอร์โมนสูงหรือต่ำไป จนส่งผลให้การตรวจภาวะไทรอยด์ทำงานมากไป (Hyperthyroidism) โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) และไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยโรคผิด รวมถึงการรักษาที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้นโรคไทรอยด์จึงเป็นโรคที่ห้ามกินคอลลาเจน เพราะการกินอาหารเสริมคอลลาเจนที่มีไบโอตินแค่ 10 กรัมก่อนเข้ารับการตรวจก็สามารถทำให้ผลตรวจผิดได้ 

5. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากไขมัน แคลเซียม โปรตีน หรือเซลล์ที่อักเสบเข้าไปอุดกั้นหลอดเลือด จนทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน และอาจนำไปสู่อาการร้ายแรงอย่าง ภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเมื่อเกิดภาวะนี้ การตรวจโทรโปนิน (Troponin Test) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยวินิจฉัยอาการและทำการรักษา แต่การกินอาหารเสริมคอลลาเจนอาจทำให้ผลตรวจผิดได้

ไบโอตินหรือวิตามินบี 7 สามารถทำให้ผลตรวจเลือดเพื่อวัดระดับโทรโปนินต่ำได้ และส่งผลให้ไม่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด เนื่องจากโทรโปนินเป็นโปรตีนที่อยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจและจะเข้าสู่กระแสเลือดก็ต่อเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บจากการไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ระดับโทรโปนินที่สูงจึงช่วยบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจกำลังบาดเจ็บมาก 

ผลตรวจโปรโปนินที่ต่ำอาจส่งผลให้ได้รับการรักษาช้าได้ ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจึงไม่ควรกินอาหารเสริมคอลลาเจนที่มีไบโอติน 

6. โรคมะเร็ง

มะเร็งเป็นโรคที่ห้ามกินคอลลาเจน เพราะการกินอาหารเสริมคอลลาเจนที่มีส่วนผสมของวิตามินต่าง ๆ  สามารถเข้าไปรบกวนการออกฤทธิ์ของยารักษาสำหรับผู้ที่กำลังทำเคมีบำบัดได้ เช่น วิตามินซี และวิตามินอีที่อาจทำให้ยามีผลน้อยลง วิตามินเคก็สามารถส่งผลต่อยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ที่ช่วยลดการแข็งตัวของเลือดมีผลน้อยลงเช่นกัน 

นอกจากนี้ อาหารเสริมคอลลาเจนยังอาจส่งผลต่อยาที่ใช้ก่อนหรือหลังผ่าตัดมะเร็ง โดยอาจส่งผลให้เลือดไหลไม่หยุด หรือแผลติดเชื้อได้ 

อาหารเสริมคอลลาเจนอาจให้ประโยชน์มากมายและมักไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ผู้ที่เป็นโรคบางอย่างหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวนอกเหนือจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินหรือปรึกษาแพทย์ก่อนกินอาหารเสริมคอลลาเจน และอาหารเสริมอื่น ๆ เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพในอนาคต