ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (Sleep Disorders) เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้การนอนหลับของผู้ป่วยผิดไปจากปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไป โดยอาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระยะเวลา ปริมาณ และคุณภาพของการนอนหลับ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่เพียงพอ อ่อนเพลีย ง่วงตอนกลางวัน ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานลดลง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
การนอนไม่หลับ หลับยาก หรือหรือไม่สนิทอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว เนื่องจากความเครียดในชีวิตประจำวัน แต่กรณีที่เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นประจำจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต อาจเป็นสัญญาณของโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับที่ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม
ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่พบบ่อย
ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับมีหลายโรค ในบทความนี้จะกล่าวถึง 7 โรคที่อาจพบได้บ่อย ดังนี้
1. นอนไม่หลับ (Insomnia)
นอนไม่หลับคือภาวะที่ทำให้นอนหลับยาก ใช้เวลานานกว่าจะนอนได้ หรือไม่สามารถนอนหลับได้ในตอนกลางคืน แม้จะรู้สึกอยากนอนและมีเวลานอนหลับอย่างเพียงพอก็ตาม ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า ง่วงนอนในตอนกลางวัน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน
นอนไม่หลับเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่พบบ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน การนอนไม่เป็นเวลาของผู้ที่ทำงานเป็นกะหรือภาวะเจ็ตแล็ก (Jet Lag) อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้ยา โรคทางจิตเวช โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และการตั้งครรภ์
2. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากกล้ามเนื้อในลำคอหย่อนตัว (Obstructive Sleep Apnea) ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบหรืออุดกั้น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Sleep Apnea) ในการหยุดสั่งการไปยังกล้ามเนื้อที่ควบคุมการหายใจ
ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะมีอาการกรนเสียงดัง หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ เกิดอาการสำลัก ซึ่งทำให้ตื่นบ่อยกลางดึก และอาจส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้
3. กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)
กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขเป็นภาวะที่ผู้ป่วยรู้สึกอยากขยับขาอยู่ตลอดเวลา โดยมักมีอาการไม่สบายขา เหมือนมีบางสิ่งไต่บริเวณขา คัน หรือมีอาการขากระตุก อาการมักเกิดขึ้นขณะนั่งพักหรือนอนหลับในช่วงกลางคืน ซึ่งทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก การตั้งครรภ์ โรคสมาธิสั้น โรคพาร์กินสัน โรคอ้วน และการใช้ยา
4. โรคลมหลับ (Narcolepsy)
โรคลมหลับเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน ร่วมกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และวูบหลับกะทันหันได้ตลอดเวลา เช่น ขณะพูด รับประทานอาหาร เดิน หรือขับรถ แม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอในเวลากลางคืนแล้วก็ตาม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระดับสารไฮโปเครติน (Hypocretin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ควบคุมการนอนหลับลดต่ำลงกว่าปกติ โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภุมิคุ้มกัน โรคและความผิดปกติที่เกิดกับสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
5. ภาวะนอนมากเกินไป (Hypersomnia)
ภาวะนอนมากเกินไป หรือภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ (Excessive Sleepiness) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงนอนผิดปกติ ทำให้นอนเยอะกว่าคนทั่วไป ตื่นยาก แม้จะนอนนานเพียงใดก็ยังรู้สึกง่วง จึงอาจต้องงีบหลับในช่วงกลางวันหลายครั้ง
ภาวะนี้อาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับอื่น ๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคลมหลับ และโรคอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
6. ภาวะพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ (Parasomnias)
ภาวะพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับเป็นภาวะที่เกิดขึ้นขณะหลับ หรือช่วงระหว่างการนอนกับการตื่น มีหลายประเภท เช่น การละเมอ ฝันร้าย ปัสสาวะรดที่นอน และอาการร้องผวาตอนกลางคืน (Night Terrors) ภาวะพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับพบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่บางคนอาจมีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
7. ภาวะนอนไม่เป็นเวลา (Circadian Rhythm Sleep Disorders)
นาฬิกาชีวิตจะทำงานเป็นวงจรที่เรียกว่า จังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythms) คอยควบคุมการหลั่งฮอร์โมนการนอนหลับและการตื่นในแต่ละวัน หากนอนไม่เป้นเวลาจะทำให้นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- การทำงานเป็นกะ (Shift Work Sleep Disorder) คนทำงานเป็นกะ โดยเฉพาะกะดึกหรือเช้าตรู่ มักเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับจากการทำงานในช่วงเวลาที่คนทั่วไปนอนหลับ ทำให้นอนหลับอย่างไม่มีคุณภาพ และง่วงตอนกลางวัน และนอนไม่หลับในช่วงแรกที่ร่างกายยังไม่เคยชิน
- เจ็ตแล็ก หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับจากการเดินทางข้ามเขตเวลาโลก พบบ่อยในผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ๆ เช่น ลูกเรือ นักธุรกิจ ทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือนอนไม่หลับ และปวดหัว เนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทันจากการเดินทางข้ามเขตเวลา
- การนอนดึกตื่นสาย (Delayed Sleep Phase Disorder) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยนอนดึกกว่าคนทั่วไปมาก โดยมักนอนหลับหลังเวลา 2.00–3.00 น. หากเข้านอนเร็วกว่าเวลาดังกล่าวจะนอนไม่หลับ ทำให้ตื่นสายมาก ไม่อยากตื่นไปเรียนหรือทำงานตามเวลาปกติ
การรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ
ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับแต่ละโรคมีวิธีรักษาต่างกัน บางโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางโรคทำได้เพียงบรรเทาอาการ เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยมักใช้การปรับพฤติกรรมคบคู่กับการรักษาโดยแพทย์ ดังนี้
การปรับพฤติกรรม
ผู้มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับควรปรับพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายและหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น
- จดบันทึกการนอนหลับ เช่น เวลาเข้านอนและตื่นนอน หากมีอาการขณะหลับนอนหลับที่ผิดปกติ เช่น ตื่นบ่อยกลางดึก หรือวูบหลับ ควรจดบันทึกรายละเอียดไว้เพื่อนำไปปรึกษาแพทย์
- เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวันจนเป็นนิสัย
- ควบคุมน้ำหนักตัว และออกกำลังกายเป็นประจำ
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ และนั่งสมาธิ หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากใกล้เวลาเข้านอน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นที่มีไขมันหรือคาร์โบไฮเดรตสูง
- ไม่ดื่มน้ำปริมาณมากก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
- เลือกหมอนและที่นอนที่นอนสบายและเหมาะสมกับสรีระ ปรับอุณหภูมิและแสงสว่างในห้องนอนให้พอดี
การรักษาโดยแพทย์
หากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นเวลานานหรือเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสม เช่น
- การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง เช่น ยานอนหลับ เมลาโทนิน หรือยารักษาโรคที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น โรคซึมเศร้า
- การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อช่วยบรรเทาความวิตกกังวลในการนอนหลับ
- การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) สำหรับรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ
- การรักษาด้วยแสงสว่าง (Bright Light Therapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่เป็นเวลา
ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับมักส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ การปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยการนอนหลับจะช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับได้ หากมีอาการนอนหลับผิดปกติ เช่น ง่วงมากในตอนกลางวัน ผล็อยหลับบ่อย ๆ หยุดหายใจหรือสำลักในขณะหลับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา