การรับประทานผักมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ นอกจากนั้น การรับประทานผักต้านมะเร็งยังอาจช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคมะเร็งได้ด้วย ผักที่อาจช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคมะเร็งมีอยู่หลายชนิดรอบ ๆ ตัวคุณ หากคุณรู้ว่าผักชนิดใดมีคุณสมบัติในการช่วยต้านมะเร็งได้บ้าง คุณก็จะสามารถเลือกรับประทานได้อย่างง่ายดาย และอาจช่วยบำรุงสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
ผักต้านมะเร็งโดยส่วนใหญ่มักมีส่วนประกอบของวิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินดี ซีลีเนียม คลอโรฟิลล์ และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์ ลูทีน หรือไลโคปีน เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเสียหายของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ นั่นเอง
7 ผักต้านมะเร็งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
การรับประทานผักเป็นอีกวิธีหนึ่งในการบำรุงสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาผักที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่ถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ อาจลองพิจารณารับประทานผักต้านมะเร็งเหล่านี้ที่อาจมีคุณสมบัติในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
1. กระเทียม
กระเทียมเป็นผักที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงจนหลายคนอาจไม่ชอบ แต่ในกระเทียมมีสารประกอบกำมะถันที่มีชื่อว่าสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการก่อตัวของสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่าไนโตรซามีน (Nitrosamines) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการรับประทานกระเทียมอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หลายส่วน เช่น กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่
องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีรับประทานกระเทียมวันละ 1 กลีบเพื่อช่วยในการบำรุงสุขภาพ นอกเหนือจากกระเทียมแล้ว ผักในตระกูลเดียวกันอย่างหัวหอม หอมแดง หรือต้นหอม ก็อาจมีคุณสมบัติในการต้านโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน
2. ผักใบเขียว
ผักใบเขียวเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) และสารลูทีน (Lutein) จึงอาจมีคุณสมบัติเป็นผักต้านมะเร็งได้ นอกจากนี้ ผักใบเขียวยังอุดมไปด้วยใยอาหารและโฟเลต (Folate) หรือวิตามินบี 9 ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมายด้วย ตัวอย่างผักใบเขียวที่สามารถหารับประทานได้ง่าย เช่น ผักโขม ผักกาดหอม และคะน้า
3. ผักตระกูลกะหล่ำ
ผักตระกูลกะหล่ำไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หรือบร็อคโคลี่ ถือเป็นผักต้านมะเร็งอีกชนิดหนึ่ง เพราะอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีอย่างสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) และสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดการก่อตัวของสารก่อมะเร็ง ช่วยชะลอการเติบโตของเนื้องอก และช่วยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายได้นั่นเอง
4. แครอท
แครอทเป็นแหล่งสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งงานวิจัยพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในแครอทอาจช่วยต่อสู้กับเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่อาจเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกได้ นอกจากนี้ แครอทยังอุดมไปด้วยวิตามินเอที่มีสรรพคุณในการบำรุงสายตา และมีสารพฤกษเคมีที่อาจช่วยต้านโรคมะเร็งได้อีกหลายชนิดเลยทีเดียว
5. มะเขือเทศ
มะเขือเทศอาจเป็นผักต้านมะเร็งได้เพราะอุดมไปด้วยสารไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มักพบได้ในผักผลไม้สีแดง จากงานวิจัยพบว่าสารไลโคปีนในมะเขือเทศอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนะนำให้รับประทานมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกแล้วหรือมะเขือเทศที่ผ่านการแปรรูปเป็นซอสหรือน้ำผลไม้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสารไลโคปีนอย่างสูงสุด
6. ถั่ว
ถั่วถือว่าเป็นผักต้านมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป ถั่วหลายชนิด เช่น ถั่วแดง อุดมไปด้วยใยอาหารในปริมาณมาก และมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพในหลากหลายด้าน การรับประทานถั่วสัปดาห์ละประมาณ 2–3 หน่วยบริโภค อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งทวารหนักได้
7. ขมิ้น
ขมิ้นเป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี และเป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารหลายชนิด ขมิ้นมีสารพฤษเคมีที่สำคัญชื่อว่าสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติในการต้านนอนุมูลอิสระและช่วยบำรุงสุขภาพได้หลายประการ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้นั่นเอง
การรับประทานขมิ้นให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด ควรรับประทานขมิ้นบดวันละประมาณ 1–3 กรัม โดยใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงในอาหาร และควรรับประทานร่วมกับพริกไทยเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึม
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผักต้านมะเร็งบางชิ้นยังเป็นเพียงงานวิจัยขั้นต้นที่ทำการศึกษาในหลอดทดลองหรือในสัตว์เท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเหล่านี้ จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำลายสุขภาพ
นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอีกทางหนึ่ง เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควรตรวจสุขภาพประจำปีด้วย