วิธีแก้ตากระตุกคือวิธีที่อาจช่วยให้อาการเปลือกตากระตุกบรรเทาหรือหายไปได้ ปกติแล้วอาการตากระตุกมักหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก แต่ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเกิดขึ้นบ่อย โดยอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การประคบร้อน การนวดเปลือกตา การลดความเครียด การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจช่วยให้อาการตากระตุกค่อย ๆ ดีขึ้นได้
ตากระตุก เป็นอาการที่กล้ามเนื้อเปลือกตาบนหรือล่างเกิดการกระตุก โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ การบริโภคคาเฟอีนเยอะเกินไป ระคายเคืองตา ตาล้า อย่างไรก็ตาม หากตากระตุกไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับสมองหรือระบบประสาทได้
วิธีแก้ตากระตุกง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ปกติแล้วตากระตุกมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ในบางครั้งตากระตุกอาจเกิดขึ้นบ่อยหรือเกิดติดต่อกันนาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความรำคาญได้ ดังนั้น การใช้วิธีแก้ตากระตุกต่าง ๆ จึงอาจช่วยให้ตากระตุกดีขึ้น โดยวิธีแก้ตากระตุกมีหลายวิธี เช่น
1. ประคบร้อน
เมื่อเริ่มมีอาการตากระตุกเกิดขึ้น การประคบร้อนบริเวณตาอาจเป็นวิธีแก้ตากระตุกเบื้องต้นได้ เพียงนำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น และบิดให้แห้ง จากนั้นประคบไว้ที่ตาประมาณ 5–10 นาที ความร้อนอาจช่วยให้กล้ามเนื้อที่กระตุกค่อย ๆ ลดลงได้
2. นวดบริเวณเปลือกตา
วิธีแก้ตากระตุกวิธีต่อมาคือการนวดบริเวณเปลือกตา เพียงใช้นิ้วมือนวดรอบเปลือกตาอย่างเบามือ โดยการนวดอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตาที่กระตุกอยู่ให้ดีขึ้น
3. ยาหยอดตา
อาการตาล้า ตาเพลียอาจนำไปสู่อาการตาแห้งได้ เมื่อตาแห้งเกินไปอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกได้ โดยวิธีแก้ตากระตุกที่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ คือการใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมที่ช่วยให้ตาชุ่มชื้นมากขึ้น และอาจส่งผลให้ตากระตุกลดลง
สำหรับผู้ที่มีอาการตากระตุกที่เกิดจากภูมิแพ้ การใช้ยาหยอดตาที่มียาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้อาจช่วยรักษาอาการภูมิแพ้ขึ้นตาหรืออาการคันตาที่เกิดจากภูมิแพ้ได้
4. ลดความเครียด
ความเครียดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตากระตุก ดังนั้น การลดความเครียดจึงอาจเป็นวิธีแก้ตากระตุกที่ช่วยลดอาการตากระตุกได้ในระยะยาว โดยวิธีลดความเครียดมีหลากหลายวิธี เช่น การพูดคุยกับผู้คนที่ไว้ใจ การทำงานอดิเรกที่ชอบ การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ
5. พักสายตาจากหน้าจอ
วิธีแก้ตากระตุกอีกหนึ่งวิธีคือการพักสายตา เนื่องจากการจ้องมองหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการตาล้า ตากระตุกได้ โดยอาจใช้กฎ 20–20–20 หรือการพักสายตาทุก 20 นาที โดยการมองไปที่สิ่งของที่อยู่ไกลประมาณ 20 ฟุต หรือประมาณ 6 เมตร นานประมาณ 20 วินาที โดยวิธีแก้ตากระตุกนี้อาจช่วยให้ดวงตาได้พักมากขึ้น ลดอาการตาล้า ตากระตุกได้
6. ลดการบริโภคคาเฟอีน
การลดปริมาณคาเฟอีนลงอาจช่วยลดอาการตากระตุกได้ โดยปริมาณคาเฟอีนปกติที่บริโภคได้ คือไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หากบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ รวมไปถึงอาการตากระตุกได้ ดังนั้น การลดการบริโภคอาหารหรือเครื่องต่าง ๆ เช่น ช็อกโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
หากเป็นผู้ที่บริโภคคาเฟอีนต่อวันสูง ควรค่อย ๆ ลดปริมาณคาเฟอีนลง แต่ไม่ควรงดคาเฟอีนทันที เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนคาเฟอีนได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ง่วงซึม หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ตากระตุก เนื่องจาก การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดตากระตุกได้ โดยผู้ใหญ่ควรนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมง ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้การนอนหลับขึ้นมีหลายวิธี เช่น
- นอนหลับและตื่นนอนให้เป็นเวลา ๆ
- งดการกินอาหาร คาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- นอนหลับในห้องที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการนอน เช่น ห้องที่เงียบ มืด ไม่ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป
- นำอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ ออกจากห้องนอน เพราะแสงหรือเสียงจากอุปกรณ์อาจรบกวนการนอนได้
- งดสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่อาจทำให้นอนหลับยาก หรือตื่นกลางดึกบ่อย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะอาจช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีแก้ตากระตุกแล้ว แต่ตากระตุกยังคงไม่ดีขึ้น ตากระตุกรบกวนการใช้ชีวิต หรือส่วนอื่นบนใบหน้าเริ่มเกิดกระตุก ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากตากระตุกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยวิธีรักษาตากระตุกโดยแพทย์มีหลายวิธี เช่น การใช้ยา การฉีดโบท็อกซ์ และในบางกรณี อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อหยุดอาการตากระตุกที่เกิดขึ้น