Sumatriptan (ซูมาทริปแทน)
Sumatriptan (ซูมาทริปแทน) เป็นยากลุ่ม Selective Serotonin Receptor Agonists ใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน และอาการปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไวต่อแสงและเสียง เป็นต้น ยานี้ออกฤทธิ์ต่อสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดในสมองหดตัว ยับยั้งการส่งสัญญาณความรู้สึกเจ็บปวดไปยังสมอง และปิดกั้นการปล่อยสารธรรมชาติบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ของไมเกรน อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้ไม่สามารถใช้ป้องกันหรือลดความถี่ในการเกิดอาการไมเกรนได้
เกี่ยวกับยา Sumatriptan
กลุ่มยา | ยารักษาไมเกรน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลอง ในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Sumatriptan
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยา Sumatriptan แพ้ส่วนประกอบของยา หรือแพ้สารชนิดอื่น ๆ รวมทั้งแจ้งเกี่ยวกับอาการแพ้ที่เคยเกิดขึ้นกับตน เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ไอ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีด มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน รวมทั้งประวัติทางการแพทย์ของตนและคนในครอบครัว เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยบางชนิด โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคตับ โรคไต โรคเรเนาด์ โรคลมชัก ภาวะความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจเต้นผิดปกติ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน สมุนไพร และอาหารเสริม เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ห้ามใช้ยาชนิดนี้ หากภายใน 14 วันที่ผ่านมามีการใช้ยากลุ่ม MAOI เช่น ยาลีเนโซลิด เซเลกิลีน เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาชนิดนี้ หากภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการใช้ยาชนิดอื่นที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมถึงเคยมีประวัติภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรค Wolff-Parkinson-White Syndrome ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตที่อาจส่งผลให้ร่างกายขาดเลือด รวมถึงผู้ที่มีอาการปวดศีรษะในลักษณะที่แตกต่างจากไมเกรน ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เป็นโรคเบาหวาน อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอลสูง มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือเคยมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการขับรถและการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายหลังจากใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง
- เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาด้วย
- ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ห้ามให้นมบุตรภายในเวลา 12 ชั่วโมงหลังจากใช้ยา Sumatriptan เนื่องจากยาอาจถูกส่งผ่านทางน้ำนมได้ หากมีการปั๊มนมในช่วงระหว่างนั้นก็ห้ามให้ทารกดื่มนมเช่นกัน
ปริมาณการใช้ยา Sumatriptan
อาการปวดศีรษะไมเกรน
ตัวอย่างการใช้ยา Sumatriptan เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
ยารับประทาน
ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป รับประทานยาครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม และรับประทานซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงหากเกิดอาการไมเกรนขึ้นอีกครั้ง ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Sumatriptan
- ใช้ยา Sumatriptan ทันทีที่มีอาการปวดศีรษะ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำที่อยู่บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
- ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือปรับปริมาณยาด้วยตัวเอง โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาใช้ร่วมกับผู้อื่น
- ในการใช้ยาครั้งแรก ผู้ป่วยควรใช้ยาขณะอยู่ในสถานพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
- สำหรับยา Sumatriptan ชนิดรับประทาน ให้กลืนยาทั้งเม็ด โดยห้ามหักแบ่งเม็ดยา
- ห้ามใช้ยาในปริมาณมากกว่าที่กำหนด เนื่องจากอาจทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงได้ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หรือหากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด
- ควรไปพบแพทย์ตามนัด และเข้ารับการตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
- ควรบันทึกอาการปวดศีรษะทุกครั้งที่มีอาการและขณะที่ใช้ยา Sumatriptan
- ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะมากกว่า 4 ครั้งใน 1 เดือน หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที
- เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง โดยเก็บยาให้ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Sumatriptan
การใช้ยา Sumatriptan อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น เวียนศีรษะ หน้าแดง รู้สึกเสียวซ่า รู้สึกร้อนหรือหนาว อ่อนเพลีย ง่วงซึม ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการดังข้างต้นแล้วอาการนั้นรุนแรง มีอาการเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผิวหนังบวม แดง หรือลอก มีไข้ขึ้น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด รู้สึกแน่นบริเวณหน้าอกหรือลำคอ พูดและกลืนลำบาก เสียงแหบ มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ เป็นต้น
- ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ท้องเสีย และอุจจาระมีเลือดปน
- รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
- ชัก
- มือและเท้าเย็น ปลายมือหรือปลายเท้าซีด
- การมองเห็นหรือการได้ยินผิดปกติ
- มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในบริเวณขาและเท้า เช่น ปวดตึงขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดแสบปวดร้อน หนาว มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว และปวดสะโพก เป็นต้น
- อาการของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอก อาจเจ็บร้าวไปยังบริเวณขากรรไกรหรือไหล่ คลื่นไส้ และมีเหงื่อออกมาก เป็นต้น
- ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจมีอาการ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง มีการมองเห็นที่เปลี่ยนไป มีอาการเหมือนชีพจรเต้นตุบ ๆ บริเวณคอหรือในหู รู้สึกวิตกกังวล และเลือดกำเดาไหล เป็นต้น
- อาการที่เป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น รู้สึกชาและอ่อนแรง ปวดศีรษะอย่างฉับพลันและรุนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการทรงตัว เป็นต้น
- กลุ่มอาการระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย มีไข้ สูญเสียการทำงานประสานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การตอบสนองของร่างกายไวเกินไป กล้ามเนื้อกระตุก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเป็นลม เป็นต้น