คำว่า Bully (บุลลี่) เริ่มปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงหลังมานี้ เนื่องจากสังคมเริ่มตื่นตัวกับการกลั่นแกล้งหรือ Bullying ที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บตัวหรือรู้สึกแย่ โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ และมักถูกรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียนหรือคนในครอบครัวอย่างพี่น้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเด็กที่ถูก Bully และอาจทำให้เด็กเกลียดกลัวการไปโรงเรียน หรือมีปัญหาในการเข้าสังคมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในที่สุด
การ Bully เป็นอย่างไร ?
การ Bully คือ พฤติกรรมก้าวร้าวที่คนหรือกลุ่มคนที่มีความได้เปรียบทางใดทางหนึ่งกระทำต่อผู้ที่เสียเปรียบหรืออ่อนแอกว่าอย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ จนผู้ถูกกระทำรู้สึกแย่ เจ็บปวด หรือเกิดความเครียด ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการใช้กำลัง การใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ การใช้แรงกดดันทางสังคม การกีดกันริดรอนสิทธิหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการปฏิบัติใด ๆ ก็ตามในทางลบ
การ Bully อาจแบ่งออกตามลักษณะความรุนแรงได้เป็นประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
- การใช้กำลังบังคับหรือทำร้ายร่างกาย เช่น หยิก ผลัก ตี ต่อย เตะ แย่งหรือข่มขู่เอาสิ่งของจากเหยื่อ ทำลายข้าวของเสียหาย สั่งให้ทำเรื่องที่ไม่อยากทำ สั่งให้ไปกลั่นแกล้งคนอื่นต่อ เป็นต้น
- การใช้คำพูดทำร้ายความรู้สึก เช่น ล้อเลียน ข่มขู่ ดูถูก วิพากษ์วิจารณ์ พูดล้อเลียนอย่างรุนแรง ใช้ถ้อยคำล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น
- การกลั่นแกล้งทางสังคม เช่น กีดกันออกจากสังคมหรือห้ามคนอื่นเข้าใกล้เหยื่อ โดยอาจใช้การข่มขู่หรือเผยแพร่ข่าวลือในทางลบ เป็นต้น
- การกลั่นแกล้งทางโซเชียล หรือ Cyberbullying เป็น 1 ในการ Bully ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากโซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเป็นการกลั่นแกล้งที่ทำได้ง่ายและมักไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผู้กระทำ ซึ่งสามารถทำร้ายเหยื่อได้ตลอดเวลาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่นิยม เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม อีเมล เป็นต้น
- การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เกิดขึ้นในวัยทำงาน โดยเป็นการใช้อำนาจหรือความรุนแรงในสถานที่ทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้เหยื่อมีประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง ขาดงานบ่อยขึ้น ไม่อยากทำงาน และอยากลาออกจากงานนั้น ๆ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กอาจกำลังถูก Bully
สัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าลูกหรือเด็กในปกครองกำลังตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง มีดังนี้
- เด็กบอกว่าทำของหายบ่อย ๆ
- มีร่องรอยบาดเจ็บหรือแผลฟกช้ำตามตัว โดยไม่สามารถบอกสาเหตุได้อย่างชัดเจน
- มีเพื่อนน้อย หรืออยู่ ๆ ก็มีเพื่อนน้อยลง
- มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ อาจกินเยอะกว่าที่เคยเมื่อกลับจากโรงเรียน เนื่องจากถูกรังแกไม่ให้กินอาหารเที่ยง
- เด็กดูเครียด หรือมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะรดที่นอนทั้ง ๆ ที่เคยกลั้นได้แล้ว
- มีอาการทางจิต เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อยครั้ง ดูเหนื่อยล้าในตอนเช้า ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ปลีกตัว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ไปเรียนสาย ไม่อยากไปโรงเรียน ขาดเรียนบ่อย เกรดตก
- หนีออกจากบ้าน ทำร้ายตัวเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกกำลัง Bully เด็กคนอื่น
เด็กที่ Bully ผู้อื่นนั้น เสี่ยงมีปัญหาร้ายแรงในอนาคตได้เช่นเดียวกับเด็กที่ถูก Bully เพราะในที่สุดก็จะมีเพื่อนน้อยลง เหลือแต่เพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกัน และอาจพากันไปสู่พฤติกรรมที่รุนแรงหรือส่งผลเสียต่อตัวเองยิ่งกว่าเดิม
ดังนั้น หากสังเกตพบว่าเด็กมีพฤติกรรมต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าลูกของคุณอาจมีส่วนพัวพันในการกลั่นแกล้งผู้อื่น
- มีส่วนร่วมในการชกต่อยหรือการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง
- มีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ
- เป็นเพื่อนกับเด็กที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น
- เข้าห้องปกครองด้วยปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อยครั้ง
- มีเงินเพิ่มขึ้นหรือมีสิ่งของใหม่ ๆ โดยอธิบายไม่ได้ว่าได้มาอย่างไรหรือใครให้มา
- มักกล่าวโทษผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นคนผิด หรือทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด
- หมกมุ่นอยู่กับการแข่งขัน การมีชื่อเสียงหรือการได้รับความนิยม
ผลกระทบจากการ Bully
การ Bully เป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด เพราะไม่ว่าลูกของตนจะเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นผู้กระทำก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบร้ายแรงได้ทั้งสิ้น โดยเด็กที่เป็นฝ่ายกระทำจะเสี่ยงมีส่วนพัวพันหรือก่ออาชญากรรม ความรุนแรง การทำลายข้าวของ และการใช้สารเสพติด ทั้งยังอาจเกิดความล้มเหลวทางการศึกษาหรือเรียนไม่จบ จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้
ส่วนเด็กที่เป็นเหยื่อของการ Bully นั้น จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเรียนอย่างการไม่อยากไปโรงเรียนหรือขาดเรียนบ่อย ๆ รวมทั้งอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัวออกจากสังคม นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อเด็กที่ถูก Bully โตขึ้นมา อาจมีสุขภาพร่างกายและสถานภาพทางการเงินแย่กว่าเด็กที่ไม่เคยเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อน รวมทั้งมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคมและมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเด็กบางรายอาจตอบสนองต่อความเครียดและความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ความรุนแรง บางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย และบางรายก็ฝังใจกับการ Bully จนได้รับผลกระทบไปตลอดชีวิต
ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือเหยื่อจากการ Bully ต่างก็มีแนวโน้มเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า วิตกกังวล ต่อต้านสังคม ทั้งยังเสี่ยงมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง มีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายด้วย แม้ในผู้หญิงความเสี่ยงดังกล่าวจะไม่แปรผันตามความถี่ที่เคยเผชิญการกลั่นแกล้ง แต่ในผู้ชายจะมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตายสูงขึ้นหากเคยอยู่ในสถานการณ์ Bully แบบซ้ำ ๆ และยิ่งเคยกลั่นแกล้งผู้อื่นหรือถูกกลั่นแกล้งบ่อยครั้งเท่าใด ก็จะยิ่งเสี่ยงพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้นเท่านั้น
จะช่วยลูกจากการถูก Bully ได้อย่างไร ?
แนวทางปกป้องเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการ Bully และการรับมือกับการ Bully ที่เกิดขึ้น มีดังนี้
- พูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา อาจให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์การถูก Bully ด้วยกัน หากเด็กกล้าพูดออกมา ให้กล่าวชื่นชมในความกล้าหาญและให้การสนับสนุนเพื่อฟื้นฟูจิตใจเด็ก รวมทั้งอาจปรึกษากับทางโรงเรียนถึงนโยบายการจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
- พยายามให้ลูกรู้สึกดีกับตัวเอง ความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กมีความกล้าและสามารถเผชิญหน้ากับการถูก Bully ได้ โดยอาจเริ่มจากการส่งเสริมให้ลูกรู้จักดูแลตัวเอง รักษาความสะอาดของร่างกาย ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- อย่าปล่อยให้ลูกเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง หากลูกถูกเพื่อนรีดไถเงินหรือถูกบังคับเอาสิ่งของส่วนตัวไปโดยไม่เต็มใจ พ่อแม่ก็ไม่ควรให้ลูกพกเงิน เกม หนังสือการ์ตูน หรือสิ่งของที่มีค่าใด ๆ ไปโรงเรียน
- สอนให้ลูกอยู่เป็นกลุ่มกับเพื่อน เพราะการไปไหนมาไหนตามลำพังจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ตกเป็นเป้าของการถูก Bully รวมทั้งบอกให้ลูกคอยอยู่เป็นเพื่อนหากเพื่อนถูกกลั่นแกล้งเช่นกัน และต้องบอกให้ผู้ใหญ่รับรู้เสมอเมื่อถูกกลั่นแกล้งหรือเห็นการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
- สอนให้รู้จักรับมืออย่างกล้าหาญและใจเย็น ฝึกให้ลูกไม่แสดงความหวาดกลัวหรือจำยอมต่อการถูกกลั่นแกล้ง รวมทั้งไม่แสดงอารมณ์ไปตามที่ถูกยั่วยุ เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ที่ Bully ได้ใจ ส่งผลให้การกลั่นแกล้งดำเนินต่อไปและอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยควรสอนให้ลูกกล้าเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่ใช่เหยื่อ เพิกเฉยและไม่ต้องสนใจสิ่งที่ผู้กลั่นแกล้งกระทำหรือพูด แล้วบอกให้อีกฝ่ายหยุดการกระทำด้วยท่าทีที่เรียบเฉย ก่อนจะเดินห่างออกมาจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ห้ามใช้กำลังหรืออารมณ์ตอบโต้ เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายแล้ว ยิ่งทำให้เรื่องบานปลายได้
- พูดคุยกับพ่อแม่ของเด็กที่เป็นผู้ Bully เพื่อให้ผู้ใหญ่รับทราบปัญหาและหาแนวทางจัดการกับเรื่องดังกล่าวอีกแรง โดยอาจนัดพูดคุยที่โรงเรียนพร้อมกับครูประจำชั้น เพื่อหาวิธีรับมือกับเรื่องที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ฝ่าย