Cyberbullying เป็นการคุกคามหรือกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ในปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายรายตกเป็นเหยื่อของการคุกคามในลักษณะนี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ถูกรังแกมีปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถสืบค้นข้อมูลและติดต่อกับเพื่อนหรือบุคคลที่อยู่ห่างไกลได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต สอดส่องพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ และคอยแนะนำให้ลูกรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการ Cyberbullying ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
Cyberbullying คือ อะไร ? แตกต่างจากการ Bully ทั่วไปอย่างไร ?
Cyberbullying เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นเครื่องมือในการคุกคามหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น โดยอาจใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรืออาจส่งข้อความทางโทรศัพท์ อีเมล บล็อก รวมทั้งเว็บไซต์แบ่งปันรูปภาพหรือวิดีโอต่าง ๆ ซึ่งการกระทำนี้มักจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมบนโลกดิจิตอลที่ไม่มีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองอยู่ด้วย โดยผู้กระทำอาจรู้จักกับเหยื่อหรือเป็นคนแปลกหน้าก็ได้
แม้ว่าการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์และการรังแกแบบเผชิญหน้าหรอื Bully จะสร้างความเจ็บปวดให้แก่เหยื่อเหมือนกัน แต่การรังแกทั้ง 2 รูปแบบก็แตกต่างกันตรงที่การแกล้งกันแบบเผชิญหน้าอาจมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกายร่วมด้วย ในขณะที่ Cyberbullying เป็นการใช้เครื่องมือคุกคามเหยื่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสารต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง รวมทั้งอาจมีบุคคลอื่นอีกมากมายที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ด้วย
เด็กกลุ่มใดเสี่ยงเผชิญภัยจาก Cyberbullying ?
การเกิด Cyberbullying มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวัยมัธยมต้นที่เด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงอาจซื้อโทรศัพท์มือถือให้เด็กใช้ ซึ่งการมีโทรศัพท์เป็นของตัวเองนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้ตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ได้
จากสถิติของหน่วยวิจัยการข่มเหงรังแกในโลกไซเบอร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Cyberbullying Research Center) พบว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของเด็กและวัยรุ่นชายหญิงอายุ 11-18 ปี ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ Cyberbullying โดยเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กระทำหรือตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย
ผลกระทบจาก Cyberbullying
การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์นั้นสามารถเกิดได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying จะรู้สึกประสาทเสียและตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เนื่องจากไม่สามารถหาทางออกของปัญหาได้
ยิ่งไปกว่านั้น Cyberbullying อาจส่งผลกระทบต่อเด็กที่เป็นเหยื่อในระยะยาวได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคที่เกิดขึ้นจากความเครียด และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเด็กคิดฆ่าตัวตายได้ ซึ่งนักวิจัยชี้ว่า ทั้งผู้กระทำและเด็กที่เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งมีความเสี่ยงสูงมากที่คิดวางแผนฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
สัญญาณเตือนว่าลูกกำลังตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying
เด็กและวัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มักไม่ยอมบอกพ่อแม่หรือครูที่โรงเรียนว่าตนกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ เนื่องจากรู้สึกผิดและอับอาย รวมทั้งอาจรู้สึกกลัวว่าตนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์อีก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ ซึ่งพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มีดังนี้
- ปกปิดความลับ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับโลกออนไลน์
- รู้สึกประหม่าหรือตกใจทุกครั้งที่ได้รับข้อความทางโทรศัพท์หรืออีเมล
- แสดงอารมณ์โกรธเมื่ออยู่บ้าน หรือมีอาการเศร้า เสียใจ หรืออารมณ์เสีย หลังจากใช้อินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์
- ต้องการหยุดใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์
- ห่างเหินจากสมาชิกภายในครอบครัว เพื่อน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- หนีเรียน หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกลุ่ม
- ผลการเรียนตกต่ำ
- มีพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การรับประทานอาหาร การนอนหลับ และสภาวะทางอารมณ์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์
การปกป้องลูกรักจาก Cyberbullying
เพื่อป้องกันลูกตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- ตั้งคอมพิวเตอร์ในบริเวณที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างบริเวณห้องนั่งเล่น และคอยสอดส่องการใช้คอมพิวเตอร์ของลูกอยู่เสมอ
- สร้างความเชื่อใจให้แก่ลูก โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฎ กติกา และการจำกัดเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ต
- เรียนรู้การทำงานของเครือข่ายสังคมต่าง ๆ และตรวจสอบหน้าโปรไฟล์ของลูก
- พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ และบอกลูกว่าหากมีเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายหรือทำให้ไม่สบายใจ ลูกสามารถขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ได้เสมอ
ทั้งนี้ หากพบว่าลูกกำลังเผชิญกับ Cyberbullying คุณพ่อคุณแม่ควรหาแนวทางช่วยเหลือลูก ดังนี้
- หากพบว่ามีการคุกคามจากอีเมล เว็บไซต์ หรือเครือข่ายสังคมอื่น ๆ ควรแจ้งให้หน่วยงานที่ให้บริการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น ๆ ทราบ
- รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ด้วยการพิมพ์ข้อความหรือรูปภาพต่าง ๆ ที่เป็นการคุกคามออกมาเป็นเอกสาร พร้อมทั้งบันทึกหลักฐานนั้นไว้ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ด้วย
- กรณีที่พบว่าการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มีการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ หรือขู่กรรโชก ควรแจ้งให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทราบ
- ควรติดต่อผู้ปกครองของเด็กที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Cyberbullying และแสดงหลักฐานที่รวบรวมไว้ เพื่อยืนยันเหตุการณ์ดังกล่าว
- หากผู้กระทำผิดเป็นเด็กที่อยู่โรงเรียนเดียวกับลูก ควรแจ้งทางโรงเรียนให้ทราบเรื่องด้วย
- หากผู้ปกครองของเด็กที่กระทำผิดเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และลูกยังคงถูกคุกคามอยู่ ควรขอคำปรึกษาทางกฎหมายจากทนาย