Pedophilia หรือโรคใคร่เด็ก ซึ่งหลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า “เปโด” หมายถึงความผิดปกติทางจิตที่ผู้ใหญ่มีความสนใจและความต้องการทางเพศกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ซึ่งยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โรคใคร่เด็กอาจนำไปสู่การล่อลวงเด็กและล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง ทั้งนี้ โรคใคร่เด็กสามารถบำบัดรักษาอาการให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตตามปกติได้
Pedophilia เป็นความผิดปกติในกลุ่มโรคกามวิปริต (Paraphilia) ซึ่งเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศที่ผิดจากบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจก่อความรุนแรงทางเพศกับบุคคลอื่นที่ไม่ยินยอมได้ พฤติกรรมเปโดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมที่ต่างกัน ซึ่งควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม
อาการที่เข้าข่าย Pedophilia
คู่มือวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM-5) ระบุว่า ผู้ที่เข้าข่าย Pedophilia ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยอายุมากกว่าเด็กที่เป็นเหยื่ออย่างน้อย 5 ปี และมีพฤติกรรมใคร่เด็กต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน มีความสนใจ ชอบจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือมีความต้องการทางเพศกับเด็กที่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี เช่น ทารก เด็กอนุบาล และเด็กประถม
โดยอาจมีลักษณะอาการต่าง ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้
- ในระยะแรกอาจไม่ยอมรับ รู้สึกวิตกกังวล และรู้สึกผิดเมื่อมีอาการใคร่เด็ก
- ไม่ชอบสุงสิงและทำกิจกรรมกับคนในวัยเดียวกัน แต่จะชอบคลุกคลีกับเด็กมากกว่า โดยอาจเข้าหาเด็กด้วยการพาไปเล่นและซื้อของให้เพื่อให้เด็กไว้ใจ
- ชอบดูและมีอารมณ์ทางเพศเมื่อดูสื่อลามกอนาจารเด็ก
- มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยอาจใช้สายตา คำพูดแทะโลม สัมผัสร่างกาย เช่น หน้าอกและอวัยวะเพศ ไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเรา
- มีปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ ไม่มีความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองในวัยเดียวกัน
ผู้มีอาการเปโดมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยมักเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่รู้จักคุ้นเคยกับเด็กเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความสนใจทางเพศเฉพาะกับเด็ก หรือสนใจทางเพศทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็ได้ และผู้ป่วยบางคนอาจสนใจเฉพาะเด็กเพศใดเพศหนึ่ง แต่บางคนก็สนใจทั้งเด็กชายและเด็กหญิง
สาเหตุของ Pedophilia
สาเหตุของ Pedophilia ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกัน
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติของ Pedophilia หรือความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อาจมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเปโดได้
- ความผิดปกติของสมองบางส่วน เช่น สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) และเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งส่งผลต่อความสนใจและอารมณ์ทางเพศ โดยอาจเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งสมอง และสมองได้รับการกระทบกระเทือน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น แอนโดรเจน (Androgen) และเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชาย
- พัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ เช่น ผู้มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้เป็นโรคสมาธิสั้น และออทิสติก
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเป็นเหยื่อของการถ่ายสื่อลามกในวัยเด็ก
- เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
แนวทางการรักษา Pedophilia
ผู้ป่วย Pedophilia มีแนวโน้มที่จะมีอาการต่อเนื่องในระยะยาวและไม่หายขาด อย่างไรก็ตาม การเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยวิธีจิตบำบัด เช่น การปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) และการบำบัดแบบกลุ่มจะช่วยปรับลดความคิดและพฤติกรรมใคร่เด็ก และช่วยให้ใช้ชีวิตตามปกติดีขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด กรณีที่มีความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Deprivation Therapy) และผู้มีโรคทางจิตเวช เช่น บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แพทย์อาจให้ยาต้านเศร้า SSRI เพื่อรักษาอาการของโรคควบคู่ไปด้วย
Pedophilia หรือใคร่เด็กเป็นภาวะผิดปกติทางจิตที่ควรได้รับการรักษา เพราะอาจนำไปสู่การทำร้ายเด็กทางเพศได้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการผิดปกติ หากบุตรหลานสนิทสนมกับผู้ใหญ่ผิดปกติ มีเงินหรือของขวัญโดยที่ผู้ปกครองไม่ทราบที่มา มีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย อาการหวาดกลัวและเก็บตัว ควรแยกตัวเด็กออกมาจากผู้ใหญ่ที่น่าสงสัย รวบรวมหลักฐานและนำแจ้งตำรวจ