Smiling Depression เมื่อรอยยิ้มซ่อนความซึมเศร้าไว้ภายใน

Smiling Depression ใช้เรียกคนที่มีภาวะซึมเศร้า แต่ซ่อนความรู้สึกเศร้า หดหู่ เสียใจ สิ้นหวังไว้ภายใต้รอยยิ้ม โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะนิสัยส่วนตัว สภาพแวดล้อม และสื่อต่าง ๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression

ผู้มีภาวะ Smiling Depression มักจะไม่แสดงออกถึงความทุกข์ใจ โดยสามารถใช้ชีวิตได้ปกติและมีความสุข ทำให้คนรอบข้างไม่ทราบว่ามีโรคซึมเศร้าซ่อนอยู่ หากปล่อยไว้อาจทำให้อาการแย่ลง และเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยได้ การสังเกตอาการและเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Smiling Depression

เช็กอาการบ่งบอก Smiling Depression

ผู้มีภาวะ Smiling Depression อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • ซ่อนความรู้สึกเก่ง มักไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ทำให้คนรอบข้างไม่ทราบว่ากำลังมีอาการซึมเศร้า
  • เมื่อดูจากภายนอกผู้มีภาวะ Smiling Depression จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ร่าเริงและมีความสุข แต่ภายในใจรู้สึกเศร้า ไม่มีคุณค่า หมดหวัง ไม่มีความสุขในชีวิต
  • ชอบมุกตลกร้าย หัวเราะได้แม้จะถูกล้อเลียน ใช้เรื่องตลกเป็นเกราะกำบังการแสดงความรู้สึกที่แท้จริง
  • วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย 
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ชอบทำ
  • ความจำแย่ลง ไม่มีสมาธิ มีปัญหาในการตัดสินใจ
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป
  • นอนหลับยาก หลับไม่สนิท
  • มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น และฆ่าตัวตาย

สาเหตุของ Smiling Depression

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีอาการซึมเศร้า การที่บุคคลหนึ่งเลือกที่จะซ่อนความทุกข์ในใจเอาไว้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้า
คนที่มีภาวะ Smiling Depression บางคนอาจไม่อยากยอมรับว่าตัวเองภาวะซึมเศร้า และคิดว่าหากตัวเองยังมีความสุขได้ก็แปลว่าไม่ได้มีภาวะซึมเศร้าใด ๆ หรือบางคนอาจคิดว่าการยิ้มหรือหัวเราะบ่อย ๆ จะทำให้โรคซึมเศร้าหายได้เอง จึงเลือกที่จะยิ้มแย้มหรือทำตัวตามปกติทั้งที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนอยู่ภายในใจ

2. กลัวการถูกตัดสินจากคนรอบตัวหรือสังคม
หลายครั้งที่ผู้ป่วยซึมเศร้าไม่สามารถเปิดใจพูดความรู้สึกจากใจของตัวเองได้ เพราะกลัวว่าคนรอบข้างจะมองว่าเป็นคนอ่อนแอหรือไม่อดทน กลัวว่าปัญหาทางจิตใจของตัวเองจะเป็นภาระของคนอื่น หรือกลัวคนในครอบครัวหรือคนรักจะรับไม่ได้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและอาจถูกทอดทิ้ง Smiling Depression จึงเป็นกลไกการป้องกันตัวเองจากการถูกตัดสินจากคนใกล้ชิด

3. ลักษณะนิสัยส่วนตัว
คนที่มีภาวะ Smiling Depression หลายคนเลือกที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่มีความสุขออกมาเมื่ออยู่กับคนอื่น จึงยังสามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่มักเกิดอาการซึมเศร้าเมื่อกลับถึงบ้านหรือเวลาที่อยู่คนเดียว คนกลุ่มนี้เรียกว่า High-functioning Depression 

4. โซเชียลมีเดีย (Social Media)
โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะ Smiling Depression เพราะทุกคนอยากมีภาพลักษณ์ที่ดูดี ประสบความสำเร็จ และมีความสุขในสื่อโซเชียล คนที่มีโรคซึมเศร้าหลายคนจึงเลือกที่จะปกปิดความทุกข์ของตัวเองเอาไว้ และแสดงออกแต่ด้านที่ตัวเองมีความสุขออกมาแทน 

5. โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)
Smiling Depression อาจเป็นผลมาจากอาการจากโรคจิตเวชอย่างโรคไบโพลาร์ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์สองขั้วที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลัน โดยอาจมีความสุขและร่าเริงมากสลับกับช่วงที่มีอาการซึมเศร้า 

การดูแลรักษาภาวะ Smiling Depression

คนที่มีภาวะ Smiling Depression จะสังเกตได้ยาก เพราะมักจะไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้า ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา

ในเบื้องต้น จิตแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว การใช้ชีวิต และให้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินสภาวะโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression ควรตอบคำถามจากความรู้สึกจริงของตัวเอง เพื่อให้จิตแพทย์สามารถวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

จิตบำบัด
จิตบำบัดเป็นการให้ผู้ที่เป็น Smiling Depression รับคำปรึกษากับนักจิตบำบัด ซึ่งวิธีที่นิยมคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งนักจิตบำบัดจะรับฟังและวิเคราะห์ปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วย เพื่อแนะนำแนวทางการปรับความคิดในแง่ลบ และการรับมือกับโรคซึมเศร้าที่เหมาะสม

การใช้ยา
ยาที่อาจใช้ในการรักษาคนที่มีภาวะ Smiling Depression มีหลายกลุ่ม เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRI และกลุ่ม SNRI เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) หรือยากลุ่มอื่นที่ช่วยปรับสมดุลอารมณ์ (Mood Stabilizers) ของผู้ป่วย

การปรับพฤติกรรม
ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่กับการรักษาด้วยยาและจิตบำบัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยพยายามเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น นั่งสมาธิ โยคะ อ่านหนังสือ หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
  • พูดคุยกับคนที่รู้สึกสบายใจและสามารถรับฟังความรู้สึกได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด

หากสังเกตว่าคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อน มีอาการเข้าข่ายภาวะ Smiling Depression ควรพูดคุยและรับฟังความรู้สึกนั้นด้วยความเข้าใจ ไม่ตำหนิหรือต่อว่า จากนั้นควรอธิบายให้เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ และแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ที่จะให้คำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสม

Smiling Depression ไม่ใช่โรคที่จะสามารถวินิจฉัยและรักษาได้ด้วยตัวเอง การสวมหน้ากากแห่งความสุขอาจช่วยให้เราลืมความทุกข์ใจไปได้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่การรักษาภาวะซึมเศร้าที่ซ่อนอยู่ภายในอย่างถูกต้อง หากมีอาการซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หรือติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และเพจสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง