Social Detox หรือ Social Detoxification (โซเชียลดีท็อกซ์) เป็นเทรนด์สุขภาพที่คนยุคใหม่ควรให้ความสนใจ เพราะสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบันได้พัฒนาไปไกล ซึ่งนอกจากประโยชน์จากการสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลกันแบบวินาทีต่อวินาทีแล้ว เทคโนโลยีดังกล่าวก็อาจเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายผู้ใช้งานโดยไม่รู้ตัว
Social Detox เป็นการบำบัดการเสพติดเทคโนโลยีหรือสื่อสังคมออนไลน์ด้วยการตัดและลดบทบาทการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง โดยหลายคนใช้บำบัดตัวเองเนื่องจากได้รับผลกระทบจากบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความคิดเห็นหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ดี ไปจนถึงพฤติกรรมการเสพสื่อทั่วไปมากจนเกินไป ด้วยเหตุนี้ Social Detox จึงเป็นวิธีที่เข้ามามีบทบาทในยุคนี้มากขึ้น
ทำไม Social Detox จึงจำเป็น ?
โซเชียลมีเดียและโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจตอบคำถามที่คุณสงสัยได้จากการขยับนิ้วบนหน้าจอเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลที่ได้รับอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้เสมอไป อย่างการอ่านข่าวตามความสนใจบนโซเชียลมีเดีย หรือดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนบนแอปพลิเคชันต่าง ๆ
ในบางครั้งการได้รับเนื้อหาที่มีอ่อนไหวบนโซเชียลมีเดียอาจกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง สถานการณ์ทางการเมือง อาชญากรรม การถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปร่าง ผลงาน ทัศนคติ หรือการถูกคุกคามทางเพศ
ยิ่งถ้าได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างต่อเนื่องก็อาจนำไปสู่ภาวะทางอารมณ์และสุขภาพจิตได้ โดยจากการศึกษาชิ้นหนึ่งได้เปรียบเทียบแนวโน้มการฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียน้อยกว่ากลุ่มแรก ผลพบว่าวัยรุ่นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายที่สูงกว่าอีกกลุ่ม ทั้งยังมีสุขภาพทางจิตใจและทัศนคติต่อตัวเองที่ย่ำแย่กว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่ได้รับผลกระทบจากเนื้อหาที่อ่อนไหวหรือรุนแรง แต่การใช้งานโซเชียลมีเดียที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหรือปัญหาด้านอื่นตามมาได้ เช่น
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ นอนดึก นอนหลับยาก
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดการจัดการเวลาที่ดี
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนไหวในแต่ละวันที่ลดลง
- ขาดความรับผิดชอบต่องานและการเรียน
- มีปัญหาด้านร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดไมเกรน ปวดตา และความเหนื่อยล้า เป็นต้น
- มีปัญหาด้านภาวะทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า โรคเครียด และภาวะวิตกกังวล เป็นต้น
นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเลต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเสพติด (Addiction) ได้
โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลว่าการเลื่อนหรือสัมผัสหน้าจอแต่ละครั้งจะส่งผลให้เกิดการหลั่งของสารเคมีบางชนิดในสมองซ้ำ ๆ หากวันไหนหรือช่วงไหนไม่ได้กดสมาร์ทโฟนหรือไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดียก็อาจทำให้รู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสีย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของภาวะดังกล่าว
ข้อดีของการทำ Social Detox
ใครที่กำลังได้รับผลกระทบจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานส่วนตัวหรือการใช้ในการทำงาน การทำ Social Detox อาจส่งผลดีดังนี้
มีสมาธิมากขึ้น
การใช้สมาร์ทโฟนอาจดึงความสนใจของผู้ใช้จากสิ่งที่ควรจะทำในเวลานั้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลเสียได้ในสักวันหนึ่ง เช่น เสี่ยงต่ออุบัติเหตุเมื่อใช้ขณะขับรถ ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียน หรืออาจงานเสร็จไม่ทันตามกำหนด เป็นต้น การทำ Social Detox เพื่อลดการใช้งานสมาร์ทโฟนจึงอาจช่วยเพิ่มสมาธิและช่วยให้จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำมากยิ่งขึ้น ทำให้ผลงาน ผลการเรียน และผลลัพธ์ในการทำสิ่งต่าง ๆ มีคุณภาพมากขึ้น
สุขภาพที่ดีขึ้น
จากหัวข้อก่อนหน้าจะเห็นได้ว่าการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินสามารถนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งการนอนดึก การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความเครียด และปัญหาอื่นที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต Social Detox จึงอาจช่วยตัดวงจรของพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่างลง
ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
การใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์เสมอไป แต่การใช้งานอย่างผิดวิธีอาจนำไปสู่ความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ โดยอาจเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว อย่างการหมกมุ่นกับโซเชียลมีเดียหรืออาการติดมือถือ หรือเกิดจากคนอื่น อย่างความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง หน้าตา การใช้ชีวิต หรือไซเบอร์บูลลี (Cyberbully)
Social Detox จึงอาจช่วยป้องกันความหม่นหมองในใจที่เกิดจากการใช้งานโซเชียลมีเดียรูปแบบต่าง ๆ ช่วยให้มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น
วิธีง่าย ๆ Social Detox ได้ด้วยตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและการทำงานในยุคนี้ การตัดโซเชียลมีเดียออกจากชีวิตทั้งหมดอาจเป็นเรื่องยากไปเสียหน่อย บทความนี้มีวิธี Social Detox แบบที่ทำได้โดยไม่กระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตมาฝากกัน
1. ตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลงหรือปิดแจ้งเตือน
การแจ้งเตือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ห่างจากโซเชียลมีเดียได้ยากขึ้น โดยเสียงและการสั่นแจ้งเตือนสามารถกระตุ้นสมองให้เกิดการตอบสนอง ทำให้ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็กว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง หากเป็นเนื้อหาที่สนใจก็อาจเล่นสมาร์ทโฟนยาวนานขึ้น
การตั้งแจ้งเตือนให้น้อยลงหรือการปิดแจ้งเตือนเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดการใช้โซเชียลมีเดียได้ หากเป็นไปได้ ควรวางสมาร์ทโฟนไว้ให้พ้นจากสายตาและห่างจากมือ เพราะบางครั้งหลายคนก็เผลอหยิบขึ้นมาดู แม้จะไม่มีแจ้งเตือนหรือไม่ได้รู้สึกต้องการใช้งาน
2. กำหนดเวลาเล่นสมาร์ทโฟน
วิธีนี้ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการทำ Social Detox แต่อาจช่วยให้คุณฝึกวินัยในตัวเองมากขึ้นด้วย โดยกำหนดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย เช่น ทุก 30 นาที หรือทุก 1 ชั่วโมง และกำหนดว่าจะเล่นครั้งละ 5 นาที หรือ 10 นาที เป็นต้น
เราสามารถปรับเวลาและความถี่ได้ตามความต้องการ แต่ก็ควรเว้นระยะให้ห่างกันเพื่อให้การทำ Social Detox มีคุณภาพและได้ผล สำหรับคนที่อยากลดการเล่นโซเชียลมีเดียให้มากขึ้นสามารถกำหนดความถี่ในการให้ห่างขึ้นได้
3. Social Detox ทุกวันหยุด
ใครที่ต้องใช้โซเชียลมีเดียทุกวัน วันละหลายชั่วโมง โดยเฉพาะการใช้สำหรับทำงาน วันหยุดจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะลองใช้ชีวิตปราศจากโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต หรือใช้สมาร์ทโฟนให้น้อยที่สุดเพื่อให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลายจากโซเชียลมีเดีย
4. ซึมซับบรรยากาศแบบออฟไลน์
ในยุคที่ความบันเทิงต่าง ๆ สามารถหาได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจหลงลืมความสวยงามของชีวิตอีกแบบ เพราะคนส่วนใหญ่ในยุคนี้เกิดมาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์ไปออนไลน์
การปิดแจ้งเตือน ปิดโทรศัพท์ และการใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ ไม่โพสต์รูป ไม่อัปเดตสถานะในโซเชียลมีเดีย แล้วออกไปใช้ชีวิตและพักผ่อน อย่างการออกไปท่องเที่ยว พูดคุยและกินข้าวกับเพื่อน และทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รัก อาจเป็นวิธีทำ Social Detox ที่ดี ซึ่งช่วยให้คุณมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจอื่นที่อยู่นอกจอโทรศัพท์
5. งดเล่นสมาร์ทโฟนตอนนอน
โซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟนส่งผลต่อการนอนหลับได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเล่นก่อนนอน ข้อมูลบางส่วนชี้ว่าแสงไฟจากหน้าจอจะกระตุ้นให้สมองทำงานมากขึ้นและกดการทำงานของสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้นอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ยาก บางคนชาร์จสมาร์ทโฟนไว้ข้างหัวนอนก็จะทำให้เล่นเพลินจนลืมเวลา ด้วยเหตุนี้ การปิดโทรศัพท์และชาร์จโทรศัพท์ไว้ห่างจากตัวในช่วงก่อนนอนจึงเป็นการทำ Social Detox ที่มีประสิทธิภาพและอาจช่วยบรรเทาอาการนอนหลับยากได้
โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมด จึงไม่ควรยึดติดกับความคิดเห็นและเนื้อหาบนโลกโซเชียลมาคิดหรือมาใส่ใจจนทำให้เกิดความเครียด ควรใช้อย่างระมัดระวังและตระหนักไว้เสมอว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งเท่านั้น
แม้ว่า Social Detox อาจไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน เพราะบางคนสามารถจัดการกับผลกระทบจากการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ แต่ถ้าวันไหนรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากใช้งานโซเชียลมีเดียก็ลองหยิบเอาวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำงานและการใช้ชีวิตได้ หากการทำ Social Detox ไม่ได้ผล รู้สึกเครียด เศร้า หรือหดหู่ติดต่อกันนาน ควรไปปรึกษาแพทย์