Stockholm Syndrome สต็อกโฮล์มซินโดรม ความสัมพันธ์จากความเจ็บปวด

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Stockholm Syndrome หรือ สต็อกโฮล์มซินโดรม กันมาบ้าง ส่วนใหญ่มักรู้จักคำนี้จากภาพยนตร์หรือหนังสือแนวระทึกขวัญ โดย Stockholm Syndrome มักถูกใช้เรียกเมื่อเหยื่อหรือตัวประกันที่ถูกลักพาตัวหรือกดขี่เกิดความรู้สึกผูกพันหรือความรักต่อผู้ก่อเหตุ หลายคนมักคิดว่าอาการดังกล่าวเป็นเพียงเนื้อหาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น

แม้ว่าจะดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ Stockholm Syndrome มีอยู่จริง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาการตกหลุมรักหรือผูกพันกับผู้ที่ทำร้ายอาจเป็นกลไกเพื่อปกป้องจิตใจ อาการนี้อาจค่อย ๆ เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่ถูกลักพาตัวหรือถูกทำร้าย โดยทั้งเหยื่อและผู้ร้ายอาจเกิดความผูกพันหรือเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกันจากระยะเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน

Horizontal,Picture,Of,Terrified,Young,Female,Victim

Stockholm Syndrome มีที่มาอย่างไร?

สต็อกโฮล์มซินโดรมถูกพบและตั้งชื่อครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1973 ณ เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นธนาคารและโจรได้จับตัวประกันไว้ 4 คน แต่เมื่อคดีถูกสะสาง ตัวประกันที่ถูกลักพาตัวไปกลับปฏิเสธในการเป็นพยาน รวมทั้งหาเงินเพื่อสนับสนุนผู้ก่อเหตุอีกด้วย นับแต่นั้นมาอาการที่เหยื่อเกิดความเห็นใจหรือรู้สึกทางบวกกับผู้ก่อเหตุจึงมักเรียกกันว่า สต็อกโฮล์มซินโดรม โดยเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้อาจมีมานาน แต่ไม่ได้มีนิยามหรือการตั้งชื่อเรียกที่ชัดเจน

ปัจจุบัน จิตแพทย์และนักจิตวิทยายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของความรู้สึกทางบวกของเหยื่อที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์รุนแรง แต่คาดว่าอาจเกิดจากการที่เหยื่อรู้สึกถึงความเห็นใจและความเมตตาของผู้ก่อเหตุผ่านทางการดูแลเหยื่อ เช่น แบ่งปันอาหารและน้ำ หรือผู้ก่อเหตุแสดงท่าทีบางอย่างที่ทำให้เหยื่อเห็นใจ จนทำให้เกิด Stockholm Syndrome ขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอาการดังกล่าวเป็นกลไกป้องกันตัวของจิตใจและสมอง เพื่อให้ผู้ป่วยรับมือและผ่านเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้นไปได้

โดยลักษณะของผู้ป่วย Stockholm Syndrome คือ การเกิดความรู้สึกและความสัมพันธ์ทางบวกต่อผู้ที่ทำร้ายหรือกดขี่ตนเอง รู้สึกและเชื่อว่าตนเองและผู้ก่อเหตุมีเป้าหมายเดียวกันและเป็นพวกเดียวกัน รวมทั้งเกิดความรู้สึกทางลบและปฏิเสธการให้ความร่วมมือต่อผู้ช่วยเหลือ อย่างเพื่อน ตำรวจ หรือหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือ

Stockholm Syndrome อาจใกล้ตัวกว่าที่คิด

จากเหตุการณ์ที่เป็นต้นกำเนิดของ Stockholm Syndrome หลายคนมองว่าเป็นอาการที่พบได้ยาก เพราะการลักพาตัวหรือการถูกจับเป็นตัวประกันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ถ้าหากเปรียบอาการสต็อกโฮล์มซินโดรมกับชีวิตประจำวันอาจพบว่าอาการดังกล่าวอาจใกล้ตัวกว่าที่คิด

แนวคิดพื้นฐานของอาการสต็อกโฮล์มซินโดรม คือ ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ภายใต้การกดขี่หรือถูกทำร้าย ซึ่งการกดขี่และความรุนแรงเป็นปัญหาที่แฝงอยู่ในทุกสังคม เช่น ผู้ปกครองทำร้ายเด็ก  ครูที่กดขี่นักเรียน หรือโค้ชกับนักกีฬา โดยความรุนแรงและการกดขี่เหล่านี้อาจมาในรูปแบบของคำพูด การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการลิดรอนสิทธิ์บางอย่างในตัวเหยื่อ 

สิ่งเหล่านี้เกิดได้ทุกวันและอาจต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงอาจเพิ่มรอยแผลและความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับเหยื่อได้ แต่เมื่อผู้ที่กดขี่แสดงความเห็นใจ แม้จะเล็กน้อยก็อาจทำให้เหยื่อรู้สึกถึงความดีและเจตนาที่ดีของผู้กระทำจนทำให้เกิดความผูกพันหรือความรักในที่สุด ดังนั้น อาการสต็อกโฮล์มซินโดรมอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวสักเท่าไร

สุดท้ายนี้ ไม่ว่า Stockholm Syndrome จะเกิดจากกลไกป้องกันตัวเองของสมองหรือเกิดจากความเห็นใจ แต่ความสัมพันธ์และความรู้สึกเหล่านี้อาจส่งผลต่อเหยื่อทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเด็ก ดังนั้น การสอดส่องและการให้ความช่วยเหลือผู้ที่อาจตกอยู่ในสถานการณ์ของความสัมพันธ์ที่ผิดเพี้ยนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยอาจเริ่มต้นจากการชี้ให้เหยื่อมองเห็นภาพความเป็นจริงเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา หรือติดต่อหน่วยงานเพื่อให้เข้าตรวจสอบและแก้ไขสถานการณ์