Workaholic มักใช้เรียกคนที่มีนิสัยบ้างานหรือเสพติดการทำงาน ซึ่งมีพฤติกรรมการทำงานต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก และมักคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลางาน สาเหตุของนิสัยนี้อาจเกิดจากความต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการหลีกหนีจากปัญหาส่วนตัว
แม้ Workaholic จะไม่ถูกจัดเป็นโรคหรือความผิดปกติทางจิตเวชโดยตรง แต่ลักษณะนิสัยบ้างานอาจนับรวมในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) ซึ่งทำให้ไม่สามารถหยุดความคิดและพฤติกรรมได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่นตามมา ลองเช็กสัญญาณที่บ่งบอกอาการบ้างานและวิธีรับมือในบทความนี้
อาการที่บอกว่าคุณเป็น Workaholic
เชื่อกันว่า Workaholic อาจมีสาเหตุจากเหตุการณ์ในวัยเด็ก เช่น การเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ไม่เหมาะสม เช่นการที่ผู้ปกครองตั้งความหวังกับเด็กไว้สูง จึงทำให้เด็กกลายเป็นคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) หรืออาจเกิดจากการสูญเสียคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก จึงต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงปากท้อง และเคยชินกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา เป็นต้น
นอกจากนี้ Workaholic อาจทำงานหนักเพื่อหนีจากความรู้สึกไม่ดี เช่น ความรู้สึกผิด วิตกกังวล สิ้นหวัง และซึมเศร้า หรือเพื่อเลี่ยงปัญหาชีวิต เช่น ปัญหาการเงิน การหย่าร้าง และการสูญเสียคนที่รัก ซึ่งผู้ที่มีนิสัยบ้างานมักมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- คิดถึงงานตลอดเวลา หากไม่ได้ทำงานจะรู้สึกเครียด และหากมีเวลาว่างก็มักจะอยากทำงานเพิ่ม แม้ประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ของงานจะเท่าเดิมหรืออาจแย่ลง
- ใช้เวลาอยู่ที่ทำงานนานกว่าคนอื่นแม้จะไม่มีงานที่ต้องรีบทำ และอดหลับอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จ
- ไม่พอใจเมื่อคนอื่นพูดถึงการทำงานของตัวเอง และไม่รับฟังคำแนะนำของคนอื่นที่ให้ลดการทำงานลง
- กลัวความผิดพลาดในการทำงาน และใช้งานเป็นเครื่องวัดคุณค่าในตัวเอง หากทำงานพลาดจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่มีคุณค่า
- เกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน คนรัก และครอบครัวจากการทำงานหนัก
ทั้งนี้ การบ้างานแตกต่างจากคนทำงานหนักทั่วไป เพราะ Workaholic จะไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวได้ และทำงานหนักโดยที่รู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องทำ มักมีอารมณ์ทางลบ เช่น รู้สึกผิด รู้สึกวิตกกังวล แต่คนที่ทำงานหนักเพราะทุ่มเทให้กับงานจะรู้จักแบ่งเวลาอย่างเหมาะสมและมีความสุขกับการทำงานซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
ปัญหาสุขภาพที่ Workaholic อาจพบเจอ
การหักโหมทำงานของ Workaholic อาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากเกินไป จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลังในการทำงาน หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และไม่พอใจงานที่ทำ
ความเครียดเรื้อรังและภาวะหมดไฟในการทำงานอาจทำให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น เบื่ออาหาร นอนหลับยาก ง่วงนอนตอนกลางวัน ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อระบายความเครียด หรือทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย ปวดหัวและปวดท้องบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ในระยะยาวอาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเบาหวาน
นอกจากนี้ Workaholic อาจมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว เนื่องจากใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการทำงาน จึงมักทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่อบอุ่นและแน่นแฟ้น หากเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาใส่ใจดูแล อาจทำให้เด็กขาดความรักและการสนับสนุนจากพ่อแม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจิตใจและการใช้ชีวิตในอนาคต
รับมืออย่างไรเมื่อเป็น Workaholic
หากคุณมีสัญญาณเข้าข่ายการเป็น Workaholic อาจปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในการทำงานด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
-
กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน
วิธีนี้อาจฟังดูยากสำหรับ Workaholic เพราะหลายคนมักคิดว่าการกำหนดเวลาการทำงานจะทำให้ตัวเองทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่รู้หรือไม่ว่าการกำหนดเวลาช่วยให้คุณทำงานเสร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เบียดเบียนเวลารับประทานอาหาร พักผ่อน และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว
นอกจากกำหนดเวลาเริ่มงานและเลิกงาน ควรจัดลำดับความสำคัญของงาน โดยเริ่มทำงานที่สำคัญและมีกำหนดส่งเร็วก่อน และเมื่อถึงเวลาเลิกงานควรวางมือจากงานที่ทำ ไม่นำงานกลับไปทำต่อที่บ้าน และไม่เช็กอีเมล ไม่รับโทรศัพท์เรื่องงาน หรือปิดการแจ้งเตือนเพื่อใช้เวลาพักผ่อนหลังเลิกงานอย่างเต็มที่
-
ปรับนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ
นิสัยกลัวความผิดพลาดจากการทำงานทำให้ Workaholic กังวลล่วงหน้าว่างานจะล้มเหลวและทำงานหนักขึ้นเพื่อให้งานสมบูรณ์แบบ จนอาจลืมไปว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครทำทุกอย่างสำเร็จโดยไม่เคยผิดพลาด สิ่งที่ควรทำเมื่อเจอความผิดพลาดคือแก้ไขปัญหาและใช้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป
-
ให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน
Workaholic มักทำงานต่อเนื่องจนลืมเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด ตาล้า และปวดเมื่อยตามร่างกาย จึงควรหาช่วงพักสั้น ๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 5–10 นาทีทุก 1 ชั่วโมง โดยหันหน้าออกไปมองนอกหน้าต่าง ลุกออกจากโต๊ะทำงาน และเดินไปชงชากาแฟ ซึ่งอาจช่วยให้คุณได้พักสายตาและยืดเส้นยืดสายจากการทำงานนาน ๆ และช่วยให้ทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ให้เวลากับคนรอบข้าง
ใช้เวลาหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว เช่น ดูโทรทัศน์ ทำอาหาร ทำสวน และออกกำลังกาย หรือนัดเจอเพื่อนและออกไปรับประทานอาหารหรือดูภาพยนตร์ด้วยกันในวันหยุด จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้
-
อย่าลืมดูแลตัวเอง
ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณมีพลังกายและใจในการทำงานต่อไป โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ
หากใช้วิธีที่กล่าวมาแล้วยังไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ ควรไปพบนักจิตวิทยาและจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษา หาก Workaholic เกิดจากโรคทางจิตเวชอย่างโรคย้ำคิดย้ำทำและโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) การรักษาโรคดังกล่าวอาจช่วยให้อาการของ Workaholic ลดลงได้