กระเทียมดำ คือกระเทียมที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการอบบ่มที่อุณหภูมิ 60–80 องศาเซลเซียสและมีความชื้นสูงอย่างน้อย 1 เดือน จนมีสีดำ รสชาติหวาน กลิ่นฉุนลดลง เนื้อสัมผัสเหนียวหยุ่น นิยมรับประทานเป็นอาหารเสริมหรือนำมาประกอบอาหารแทนกระเทียมสดเนื่องจากมีรสชาติที่รับประทานง่ายกว่า และเชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่ากระเทียมสด
กระเทียมดำอุดมไปด้วยกรดอะมิโน ไฟโตนิวเทรียนท์ สารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกระเทียมสด พบว่ากระเทียมดำให้คุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่า โดยเฉพาะไฟโตนิวเทรียนท์ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มากกว่ากระเทียมสดหลายเท่า
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่ากระเทียมดำอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งจะมีด้านใดบ้างนั้น พบแพทย์ได้รวบรวมไว้แล้วในบทความนี้
ประโยชน์ต่อสุขภาพของกระเทียมดำ
กระเทียมดำมีคุณสมบัติที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ เช่น
อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
กระบวนการอบบ่มทำให้สารประกอบในกระเทียมสดที่เป็นตัวทำให้เกิดกลิ่นฉุนถูกแปลงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นภายหลังการอบบ่ม โดยกระเทียมดำจะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่ากระเทียมสดประมาณ 2–3 เท่า
สารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติในการป้องกันอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบและเสียหายจนอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง และอาจทำให้ร่างกายสามารถต้านการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาจมีคุณสมบัติในการต้านโรคมะเร็ง
กระเทียมดำอาจมีคุณสมบัติในการช่วยต้านการอักเสบและความเสียหายของเซลล์ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ โดยงานวิจัยในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งพบว่าสารสกัดจากกระเทียมดำอาจมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบเติบของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในมนุษย์ได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเป็นผลมาจากฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระเทียมดำ
อาจช่วยปกป้องการทำงานของสมอง
กระเทียมดำอาจช่วยต้านการอักเสบของสมอง ซึ่งการอักเสบของสมองสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความจำเสื่อมหรือทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองแย่ลงได้ รวมถึงอาจช่วยเสริมการทำงานของสมองในกระบวนการคิดวิเคราะห์หรือช่วยเสริมความทรงจำได้ด้วย
งานวิจัยในสัตว์ทดลองชิ้นหนึ่งค้นพบว่ากระเทียมดำอาจมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของสมองที่เกิดจากสารเบต้าแอมีลอยด์ (Beta Amyloid) ซึ่งอาจเป็นสารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์
อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
การมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคไตวาย หรือโรคเบาหวาน จากการศึกษาพบว่ากระเทียมดำอาจมีคุณสมบัติในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้
งานวิจัยในสัตว์ทดลองชิ้นหนึ่งพบว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของหนูที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงร่วมกับสารสกัดจากกระเทียมดำลดลง เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงแต่ไม่ได้รับสารสกัดจากกระเทียมดำร่วมด้วย
อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
กระเทียมดำอาจมีคุณสมบัติในการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้เช่นเดียวกับกระเทียมสด เนื่องจากงานวิจัยพบว่ากระเทียมดำมีประสิทธิภาพในการช่วยลดปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ รวมถึงกระเทียมดำอาจช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลที่ดีในร่างกายได้ด้วย
จากงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) รับประทานกระเทียมดำเป็นเวลา 6 เดือนพบว่าระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประทาน และเมื่อรับประทานกระเทียมดำควบคู่กับการรักษาแบบหลักพบว่าสามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคกระเทียมดำ
แม้ว่าการบริโภคกระเทียมดำและกระเทียมสดอาจมีผลข้างเคียงทั่วไปเพียงเล็กน้อยและไม่รุนแรง เช่น มีกลิ่นปาก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร จุกเสียดแน่นท้อง หรือท้องเสีย และคนส่วนใหญ่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างควรศึกษาข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียมดำ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน ดังนี้
- กระเทียมดำมีคุณสมบัติในการต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติหรือผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดต้องระวังการรับประทานอาหารที่มีกระเทียมดำเป็นส่วนประกอบ และหลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียมดำในปริมาณมาก
- ผู้ที่มีประวัติแพ้กระเทียมสด หรือเคยมีอาการแพ้อาหารเกิดขึ้นหลังจากรับประทานกระเทียมสด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกระเทียมดำ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณที่แนะนำต่อวันก่อนการบริโภค เนื่องจากการรับประทานกระเทียมดำในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่
แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่ากระเทียมดำอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายด้าน แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงงานวิจัยขั้นต้นที่ทำการทดลองในหลอดทดลองหรือในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อมายืนยันข้อเท็จจริงเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านควรตระหนักถึงข้อควรระวังของกระเทียมดำก่อนการบริโภคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา