การรักษา ลมพิษ
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาลมพิษคือการพยายามหาและหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ ดังนั้น ประวัติทางการแพทย์และข้อมูลโดยละเอียดของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการหาสาเหตุ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการลมพิษ ดังนี้
- อาบน้ำเย็น โดยอาจผสมเบคกิ้งโซดาหรือข้าวโอ๊ตที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและลดอาการคัน
- ประคบเย็นด้วยการใช้ผ้าขนหนูสะอาดห่อน้ำแข็ง หรือชุบน้ำเย็น ประคบบริเวณที่มีลมพิษประมาณ 2–3 นาที เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
- ทาโลชั่นคาลาไมน์ (Calamine Lotion) หรือครีมที่มีส่วนผสมของเมนทอล ซึ่งมีฤทธิ์เย็นและช่วยบรรเทาอาการคัน โดยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยา
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ไม่เสียดสีกับผิวหนังและใส่สบาย โดยเลือกเนื้อผ้าที่ทอจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาหรือระคายผิว เช่น ผ้าขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด และควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
- สังเกตและจดบันทึกอาการของตัวเอง เช่น เกิดลมพิษหลังรับประทานอาหารหรือสัมผัสสิ่งใด และระยะเวลาที่เป็น และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้ ในเบื้องต้นแพทย์อาจให้ยารับประทานเพื่อรักษาหรือควบคุมอาการคัน คือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เช่น ยาเซทิไรซีน (Cetirizine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย
หากลำพังเพียงยาต้านฮีสตามีนไม่สามารถช่วยบรรเทาได้ แพทย์อาจให้ใช้ร่วมกันกับยาตัวอื่น ๆ หรืออาจให้ใช้ยาอื่น ๆ เช่นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สามารถช่วยลดอาการบวมแดงและอาการคัน มักจะนำมาใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อควบคุมอาการที่รุนแรงของลมพิษ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง
นอกจากนั้น ยังมียาอีกหลายชนิดที่นำมาใช้ในการรักษาลมพิษได้ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าควรจะใช้ยาอะไร เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด