การให้เลือดเป็นวิธีรักษาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดหรือมีปริมาณเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับเลือดทดแทน การให้เลือดมีความสำคัญ ขั้นตอน และความเสี่ยงใดบ้าง ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดควรศึกษาไว้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้
จุดประสงค์ของการให้เลือด
การให้เลือดมีจุดประสงค์หลักเพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไปเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุร้ายแรง การผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรง เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้กระบวนการผลิตเลือดของร่างกายบกพร่อง
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเลือดออกหลังคลอดบุตร
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางแบบซิกเคิลเซลล์ (Sickle Cell Anemia) โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นต้น
- ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เช่น ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการใช้ยาหรือการทำรังสีบำบัด
- ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับไขกระดูกบางชนิด ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับเลือดไม่เพียงพอ
ข้อจำกัดในการให้เลือด
แม้การให้เลือดจะจำเป็นต่อผู้ป่วยบางราย แต่แพทย์อาจหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนี้หากพิจารณาแล้วว่าการให้เลือดเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เนื่องจากการได้รับสารซิเตรทที่ใช้ใส่ในเลือดที่จะให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันการจับตัวเป็นลิ่มเลือดในระยะเวลาสั้น ๆ ต่อเนื่องกันหลายครั้งนั้น อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมสูง มีระดับแคลเซียมและแมกนีเซียมลดต่ำลง ซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อหัวใจของผู้ป่วย
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ขณะรับการให้เลือด แพทย์อาจต้องหยุดให้เลือดชั่วคราวเพื่อประเมินอาการและความรุนแรงของอาการแพ้ว่าจะให้เลือดต่อไปได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
รูปแบบการให้เลือด
แพทย์จะพิจารณาว่าการให้เลือดชนิดใดเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด เนื่องจากการให้เลือดทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยแต่ละรายต้องการเพียงส่วนประกอบของเลือดหรือต้องการเลือดทั้งหมด ลักษณะการให้เลือดแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
- การให้เม็ดเลือดแดง เป็นวิธีให้เลือดที่ใช้กันมากที่สุด โดยมักใช้ในกรณีเสียเลือดจากการบาดเจ็บรุนแรงหรือการผ่าตัดใหญ่ และอาจใช้กับผู้ป่วยที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยเนื่องจากภาวะโลหิตจาง
- การให้เกล็ดเลือดหรือสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด หากผู้ป่วยเสียเลือดเป็นจำนวนมากหรือมีอาการเจ็บป่วยที่ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด แพทย์จะให้เกล็ดเลือดหรือสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดเพื่อให้เลือดหยุดไหลและแข็งตัวตามปกติ
- การให้พลาสมา ภายในพลาสมาหรือน้ำเลือดอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น ฮอร์โมน โปรตีน สารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว แร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ เป็นต้น หากผู้ป่วยสูญเสียพลาสมาเนื่องจากมีแผลไหม้รุนแรง มีภาวะตับล้มเหลว หรือภาวะติดเชื้อรุนแรง อาจต้องได้รับพลาสมาเพื่อให้เลือดยังไหลเวียนเป็นปกติ
การเตรียมตัวก่อนการให้เลือด
หากพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการให้เลือด แพทย์จะอธิบายถึงสาเหตุของการให้เลือด ทางเลือกอื่นในการรักษา และความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการให้เลือด เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจและเซ็นชื่อแสดงความยินยอมในการรักษา ทว่าในกรณีฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยหมดสติจากอุบัติเหตุร้ายแรงและต้องให้เลือดอย่างเร่งด่วน แพทย์สามารถให้เลือดได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ป่วยยินยอม
ทั้งนี้ ก่อนการให้เลือดครั้งแรก แพทย์จะต้องตรวจยืนยันหมู่เลือดของผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับเลือดที่เข้ากัน ส่วนในรายที่เคยได้รับการให้เลือดมาก่อนแล้วสามารถให้เลือดได้เลย แต่หากผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้จากการให้เลือด แพทย์อาจต้องวางแผนให้เลือดด้วยวิธีที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษา
ขั้นตอนการให้เลือด
การให้เลือดทำได้โดยการสอดท่อพลาสติกขนาดเล็กสำหรับให้เลือดเข้าไปภายในหลอดเลือดดำที่แขน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจใช้สายสวนหลอดเลือดกลางต่อที่บริเวณหน้าอก
ในระหว่างที่ให้เลือด ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยบริเวณหลอดเลือดดำที่สอดท่อให้เลือด ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่หากมีอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกไม่สบายตัวทันทีหลังจากเริ่มให้เลือด อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หนาวสั่น หรือมีผื่นขึ้น ควรแจ้งแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลการให้เลือด โดยผู้ป่วยอาจได้รับยาพาราเซตามอลหรือมีการปรับลดความเร็วในการให้เลือดเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ และหากมีไข้ หายใจถี่ หนาวสั่น มีอาการคัน เจ็บหน้าอก หรือปวดหลังผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อความปลอดภัย
การให้เลือดแต่ละถุงใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อป้องอาการไม่พึงประสงค์จากการให้เลือด แต่ในกรณีฉุกเฉินแพทย์อาจให้เลือดในอัตราที่เร็วขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายจากภาวะเลือดต่ำมากโดยเร็วที่สุด ส่วนการให้เกล็ดเลือดและพลาสมาจะใช้เวลา 30-60 นาที โดยในช่วงระยะเวลา 15 นาทีแรก พยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญจะคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปฏิกิริยาการแพ้จากการให้เลือด หากไม่มีอาการแพ้ใด ๆ พยาบาลจะคอยติดตามอาการเป็นระยะ ๆ จนกว่าการให้เลือดจะเสร็จสิ้น
การดูแลตนเองหลังการให้เลือด
เมื่อให้เลือดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เข็มและท่อพลาสติกขนาดเล็กจะถูกถอดออก ผู้ป่วยอาจเกิดรอยฟกช้ำบริเวณดังกล่าว และจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน ระหว่างนี้ตัวผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากหายใจถี่ เจ็บหน้าอก หรือปวดหลังรุนแรง ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการทำกิจวัตรต่าง ๆ ในช่วงหลังการให้เลือด แต่ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคนั้น ๆ
ความเสี่ยงจากการให้เลือด
การให้เลือดค่อนข้างมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่คืออาการแพ้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- วิตกกังวล
- เจ็บหน้าอก มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- คลื่นไส้
- ปวดหลัง
- มีไข้ หนาวสั่น
- ผิวหนังแดงและชื้นผิดปกติ
- ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้เลือด มีดังนี้
- ปอดเสียหาย เป็นภาวะที่เกิดได้น้อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มักเกิดขึ้นจากการให้เกล็ดเลือดหรือพลาสมา โดยผู้ป่วยอาจเกิดภาวะนี้อย่างเฉียบพลันภายใน 6 ชั่วโมง ระหว่างการให้เลือด
- มีธาตุเหล็กในเลือดมากเกิน ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือดและต้องได้รับการให้เลือดอย่างสม่ำเสมออาจเสี่ยงเกิดภาวะธาตุเหล็กในเลือดมากเกิน ซึ่งส่งผลให้ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ เกิดความเสียหายได้
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกอย่างเฉียบพลันเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน หากได้รับเลือดไม่ตรงกับหมู่เลือดของตนเอง ระบบภูมิคุ้มกันจะทำลายเม็ดเลือดแดงของเลือดที่รับเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อไตได้
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหลังจากให้เลือด ในบางกรณีที่ได้รับเลือดไม่ตรงหมู่ ระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่ทำลายเม็ดเลือดแดงโดยทันที แต่อาจเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากได้รับเลือด 1-4 สัปดาห์ ทำให้ระดับเม็ดเลือดแดงในร่างกายค่อย ๆ ลดลง
- ภาวะร่างกายต่อต้านเซลล์เม็ดเลือด เกิดจากเม็ดเลือดขาวที่ได้รับจากการให้เลือดเข้าทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ซึ่งมักเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เสี่ยงเกิดกับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้มากที่สุด
นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่เลือดที่นำมาใช้ในการรักษาจะมีการปนเปื้อนของเชื้อที่เป็นอันตราย เช่น เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื่อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น แต่กรณีนี้พบได้น้อยมาก