MRI Scan (เอ็มอาร์ไอ) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการถ่ายภาพเนื้อเยื่อ อวัยวะ และโครงสร้างอื่น ๆ ภายในร่างกาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลในการรักษา
MRI Scan สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย ภาพที่ถ่ายได้จะมีความคมชัดสูง ทำให้การถ่ายภาพอวัยวะบางส่วนได้ข้อมูลในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าวิธีอื่น เช่น เอกซเรย์ (X-ray) อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือซีที สแกนhttps://www.pobpad.com/ct-scan (Computed Tomography: CT Scan)
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ MRI Scan
MRI Scan เป็นวิธีในการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะเกือบทั่วร่างกายที่ค่อนข้างแม่นยำ และมักจะใช้ยืนยันผลวินิจฉัยหลังจากการทดสอบอื่น ๆ ให้ข้อมูลได้ไม่เพียงพอ โดยการตรวจ MRI Scan ในแต่ละส่วนในร่างกายอาจมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น
ศีรษะ
เป็นการตรวจหาความผิดปกติของสมองและเส้นประสาทในสมองที่เชื่อมกับอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง หลอดเลือดในสมองโป่งพอง การบาดเจ็บเส้นของประสาทเกี่ยวกับการมองเห็นและได้ยิน
หน้าอก
เป็นการตรวจดูความผิดปกติบริเวณหน้าอกและหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจ ลิ้นหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปอด ตรวจหามะเร็งเต้านม
หน้าท้องและกระดูกเชิงกราน
เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะและโครงสร้างอื่น ๆ ภายในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็น ตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงเนื้องอก ภาวะเลือดออก การติดเชื้อ และการอุดตันในอวัยวะเหล่านั้น ส่วนในผู้หญิงก็สามารถใช้ตรวจดูมดลูกและรังไข่ ในผู้ชายก็ใช้ในการตรวจดูต่อมลูกหมาก
หลอดเลือด
เป็นการตรวจดูหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือด (Magnetic Resonance Angiography: MRA) เพื่อช่วยค้นหาความผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ เช่น หลอดเลือดโป่งพอง การตีบแคบและการอุดตันของหลอดเลือด ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่
ไขสันหลัง
เป็นการตรวจเช็คหมอนกระดูกและเส้นประสาทไขสันหลังในบางสภาวะ เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ หมอนรองกระดูกเคลื่อนตัว เนื้องอกของไขสันหลัง
กระดูกและข้อต่อ
เป็นการตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระดูกและข้อต่อ เช่น ข้ออักเสบ ความผิดปกติข้อต่อขากรรไกร ไขกระดูกสันหลังมีปัญหา เนื้องอกกระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็นฉีกขาดหรือเกิดการติดเชื้อ
ข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการตรวจ MRI Scan
การตรวจ MRI Scan ต้องใช้คลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการทำงาน อุปกรณ์ที่เป็นโลหะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลต่อการตรวจที่ผิดพลาดขึ้น จึงทำให้ผู้เข้ารับการตรวจบางกลุ่มควรแจ้งข้อมูลส่วนตัวให้แพทย์ทราบก่อน เช่น
- ผู้ที่ใส่เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ไฟฟ้าหรือทำมาจากโลหะ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือด ประสาทหูเทียม อินซูลินปั๊ม เนื่องจากสนามแม่เหล็กอาจสร้างความเสียหายหรือความผิดปกติในการทำงานของเครื่อง
- ผู้ที่มีการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบล่วงหน้า เพราะอาจมีผลต่อการแปลผลของภาพที่ได้
- ผู้ที่ใส่รากฟันเทียมหรืออุดฟันที่วัสดุมีโลหะเป็นส่วนประกอบ
- ผู้ที่มีสภาพร่างกายจำกัด ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวหรืออยู่นิ่ง ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ เช่น ผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน เป็นโรคกระดูกสันหลังคดและงอ รวมไปถึงผู้ที่ภาวะอ้วน ซึ่งไม่สามารถนอนลงบนเครื่องได้
- การสวมใส่โลหะต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามร่างกายอย่างเครื่องประดับที่เป็นโลหะ หรือโลหะที่เป็นส่วนหนึ่งบนเสื้อผ้า เช่น ซิป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ สามารถเข้ารับการตรวจ MRI Scan ได้เป็นปกติ เนื่องจากไม่มีรังสีที่เป็นอันตราย แต่มีข้อควรระวัง คือ การฉีดสารหรือสีเข้าหลอดเลือดดำร่วมกับการตรวจ MRI Scan ที่อาจส่งผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ MRI Scan
การตรวจ MRI Scan ไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ แพทย์อาจมีคำแนะนำพิเศษเฉพาะบุคคล โดยปกติไม่ต้องอดน้ำ อดอาหาร หรือยาใด ๆ ยกเว้นในบางรายที่อาจต้องอดอาหารและน้ำก่อนการสแกนล่วงหน้าประมาณ 4–6 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีการใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบในร่างกาย ดวงตา หรืออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรมีการแจ้งข้อมูลให้กับทางแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ทำการฉายรังสีให้ทราบ รวมไปถึงไม่ควรสวมใส่อุปกรณ์หรือเสื้อผ้าที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ เช่น ต่างหู กิ๊บ เสื้อที่มีซิป
ขั้นตอนในการตรวจ MRI Scan
การตรวจ MRI Scan เป็นขั้นตอนที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 15–90 นาที ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการสแกนและจำนวนภาพที่ต้องการถ่าย ทางโรงพยาบาลจะแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจในเบื้องต้นและคำแนะนำในการปฏิบัติตนก่อนเข้ารับการตรวจ
ในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องถอดอุปกรณ์ทุกชิ้นที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบออกทั้งหมด เช่น อุปกรณ์ช่วยฟัง ฟันปลอม นาฬิกา ต่างหู กิ๊บติดผม เนื่องจากภายในห้องมีคลื่นแม่เหล็กแรงสูงที่อาจส่งผลต่ออุปกรณ์เหล่านี้
จากนั้นจึงจะเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ แต่บางรายอาจไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ควรสำรวจสิ่งของตามกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือกระโปรงออกให้หมดหากต้องเข้ารับการตรวจโดยไม่ต้องถอดและเปลี่ยนชุด เช่น บัตรเครดิต เหรียญ บัตรเอทีเอ็ม เพราะในห้องสแกนมีคลื่นแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งอาจลบข้อมูลในบัตรต่าง ๆ ได้
การตรวจอาจเกิดเสียงดังขึ้นเป็นระยะ ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้ใช้ฟองน้ำอุดหู เพื่อช่วยลดเสียงที่เกิดขึ้น บางรายอาจต้องได้รับยาที่ช่วยให้สงบอารมณ์ หรือมีการฉีดสีเข้าร่างกาย เพื่อการตรวจเฉพาะส่วน
เมื่อเข้าไปอยู่ในห้องตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนลงบนเครื่องที่มีลักษณะเป็นถาดขนาดยาวตรงกลางของเครื่อง MRI โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าทางของศีรษะ ลำตัว และแขนให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง จากนั้นจะมีการนำเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กมาวางบนร่างกาย ก่อนที่ถาดจะค่อย ๆ เลื่อนเข้าไปในตัวเครื่องที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์
ควรนอนนิ่ง ๆ ขณะตรวจ ไม่ขยับไปมา ในบางกรณีอาจขอให้มีการกลั้นหายใจชั่วครู่ในขณะถ่ายภาพ เมื่อการตรวจเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ หลังจากนั้นแพทย์รายงานในเบื้องต้นพร้อมนัดกับผู้รับการตรวจให้มาฟังผลอีกครั้ง
หลังการตรวจและการติดตามผลของ MRI Scan
หลังการตรวจเสร็จสิ้นลง ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้าน ทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ แต่ในบางรายที่มีการใช้ยาที่ช่วยให้สงบอารมณ์ลงอาจต้องมีเพื่อน ญาติ ผู้ใกล้ชิดดูแลขณะกลับบ้านหรืออยู่ด้วยภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตรวจ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
ผลการตรวจ MRI Scan จะถูกวิเคราะห์และแปลผลโดยรังสีแพทย์ ก่อนจะส่งผลการตรวจไปยังแพทย์ผู้ทำการรักษาคนไข้ที่เป็นผู้สั่งตรวจโดยตรง จากนั้นแพทย์จะเป็นผู้ที่นัดคุยกับผู้ป่วยเกี่ยวกับผลการตรวจที่ได้ว่าเป็นปกติหรือเกิดความผิดปกติใดขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลารอผลประมาณ 1–2 สัปดาห์
ผลข้างเคียงของการตรวจ MRI Scan
การตรวจ MRI Scan โดยปกติไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่คลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงที่ใช้ในการตรวจจะมีผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ทางแพทย์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ แขนขาเทียม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจได้
นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจบางรายที่ได้รับการฉีดสีอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีความรู้สึกร้อนหรือเย็น ผู้ที่อุดฟันอาจรู้สึกเสียวฟัน ผู้ที่มีรอยสักตามร่างกายที่ใช้ผงสีชนิดเหล็กออกไซด์อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือผู้ที่มีการใส่อุปกรณ์ทางแพทย์สำหรับดวงตาที่ทำจากโลหะ อาจสร้างความเสียหายให้กับกระจกตาได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้ารับการตรวจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดแสบ หายใจติดขัด หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ควรรีบแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ให้ทราบถึงความผิดปกติ