ขาเบียด เรียนรู้สาเหตุและวิธีแก้ไข

ขาเบียด หรือภาวะต้นขาทั้งสองข้างแนบชิดกันจนไม่เห็นช่องว่างเนื่องจากต้นขาที่มีขนาดใหญ่ ถือเป็นภาวะหนึ่งที่สร้างปัญหาให้ใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายตัวจากการที่ต้นขาเกิดการเสียดสีขณะเดิน หรือบางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถแก้ไขหรือบรรเทาให้ดีขึ้นได้

ต้นขาเป็นอวัยวะส่วนที่มีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่คอยช่วยรับน้ำหนักของร่างกายเอาไว้ โดยปัญหาต้นขาใหญ่ หรือขาเบียด จะเกิดขึ้นเมื่อไขมันในร่างกายไปสะสมอยู่ที่บริเวณดังกล่าวในปริมาณมาก นอกจากนี้ ในบางคนที่มีปัญหานี้ยังอาจพบเซลลูไลท์ (Cellulite) หรือปัญหาที่ส่งผลให้ผิวที่ต้นขามีลักษณะเป็นรอยบุ๋ม หรือขรุขระร่วมด้วย

ขาเบียด

ขาเบียดเกิดจากอะไร

ต้นเหตุของการสะสมของไขมันบริเวณต้นขาสามารถเป็นได้หลายอย่าง เช่น

  • พันธุกรรม ผู้ที่คนในครอบครัวมีภาวะขาเบียดมักมีความเสี่ยงเกิดปัญหานี้มากขึ้น
  • อายุที่เพิ่มขึ้น อายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกายทำงานช้าลงจนส่งผลให้การกำจัดไขมันเป็นไปได้ยากขึ้น
  • ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหานี้ได้
  • ภาวะอ้วน (Obesity)
  • การไม่ค่อยออกกำลังกาย

ทั้งนี้ อย่างที่ได้กล่าวไป ปัญหาขาเบียดเป็นปัญหาที่แก้ไขหรือบรรเทาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะมีทั้งวิธีธรรมชาติ อย่างการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการคุมอาหาร และวิธีทางการแพทย์ อย่างการผ่าตัดและดูดไขมัน

วิธีแก้ไขปัญหาขาเบียดด้วยวิธีธรรมชาติ

สำหรับการแก้ไขปัญหาขาเบียดด้วยวิธีธรรมชาติ สิ่งหลัก ๆ ที่ต้องทำก็จะคือ การออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวจะช่วยลดไขมันทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งรวมถึงต้นขาด้วย ไม่ใช่การลดไขมันเฉพาะส่วนต้นขาอย่างเดียว ซึ่งการลดไขมันอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. ควบคุมปริมาณอาหาร

ในการแก้ปัญหาขาเบียด ควรควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายไม่ได้รับปริมาณแคลอรีหรือพลังงานส่วนเกิน โดยปริมาณแคลอรีหรือพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับเพื่อลดไขมันส่วนเกินควรจะอยู่ต่ำกว่าพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ต่อวันประมาณ 500 แคลอรี

ทั้งนี้ ความต้องการแคลอรีของแต่ละบุคคลจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และน้ำหนักของแต่ละคน แต่จำนวนคร่าว ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 2,000–2,500 สำหรับผู้ชาย และ 1,500–2,000 สำหรับผู้หญิง

นอกจากนี้ การเลือกชนิดของอาหารก็สำคัญเช่นกัน โดยการเลือกรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง อย่างอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงควรจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น อาหารที่ผ่านการแปรรูป เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีโซเดียมสูง 

2. ออกกำลังกายด้วยการคาร์ดิโอ

การออกกำลังกายด้วยการคาร์ดิโอเป็นการออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นติดต่อกันเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น การวิ่ง การขับจักรยาน การกระโดดเชือก หรือการว่ายน้ำ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ประมาณ 150 นาที/สัปดาห์ หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความหนักของกิจกรรมหรือกีฬาที่ทำ

3. ออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน

การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านหรือการเวทเทรนนิ่งเป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยให้ออกกำลังกายรูปแบบนี้อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ การออกกำลังกายรูปแบบนี้ ผู้ออกกำลังกายควรออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อทั้งตัวเพื่อความสมดุล นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือควรให้เวลาร่างกายได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยอาจจะออกกำลังเป็นวันเว้นวัน หรือสองวัน 

ส่วนท่าออกกำลังกายบริหารต้นขา อาจลองนำท่าต่อไปนี้ไปปรับใช้

ท่า Lunges

  1. เริ่มต้นด้วยท่ายืนตรง กางขาออกเท่าช่วงหัวไหล่
  2. ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้า โดยกะระยะก้าวให้กว้างกว่าระยะก้าวเท้าเดินปกติเล็กน้อย
  3. ค่อย ๆ ย่อเข่าลงจนต้นขาขนานกับพื้น โดยในระหว่างนี้ให้พยายามเกร็งตัวให้ตรง
  4. ออกแรงที่ขาด้านหน้าเพื่อดันตัวกลับสู่ท่าเริ่มต้น
  5. ทำให้ครบข้างละ 8–12 ครั้ง จำนวน 2–3 เซต

ท่า Wall Sits

  1. ยืนตัวตรง หันหลังให้กำแพง โดยเว้นระยะให้ห่างประมาณ 2 ฟุต
  2. ค่อย ๆ ย่อเข่าลงจนหลังติดกำแพงและต้นขาขนานกับพื้น
  3. ค้างเอาไว้ 15 วินาที หรือนานกว่านั้น โดยในระหว่างนี้ให้พยายามพิงหลัง สะโพก และไหล่ให้ติดกำแพง
  4. ทำซ้ำอีกครั้งจนครบ 2–3 เซต

ท่า Squat

  1. ยืนตัวตรง แยกขาออกจากกันให้กว้างกว่าช่วงหัวไหล่เล็กน้อย หันปลายเท้าเฉียงออกด้านข้างเล็กน้อย
  2. ย่อตัวลงช้า ๆ จนต้นขาขนานกับพื้น โดยในระหว่างนี้ให้พยายามเชิดอกขึ้น
  3. ออกแรงจากขาเพื่อดันตัวขึ้นสู่ท่าเริ่มต้น
  4. ทำซ้ำจนครบ 10–15 ครั้ง จำนวน 3 เซต

วิธีแก้ไขปัญหาขาเบียดด้วยวิธีทางการแพทย์

ในการแก้ไขปัญหาขาเบียดทางการแพทย์ แพทย์มักใช้การผ่าตัดยกกระชับต้นขา (Lift Surgery) เป็นหลัก โดยวิธีนี้แพทย์จะผ่าตัดนำผิวหนังและไขมันส่วนเกินของผู้เข้ารับการรักษาออก

ทั้งนี้ ในบางครั้ง การผ่าตัดยกกระชับต้นขาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาขาเบียดในบางคนได้ แพทย์จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการดูดไขมัน (Liposuction) ร่วมไปกับการผ่าตัดด้วย