ข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการหมุนหรือบิดของเอ็นบริเวณข้อเท้าที่ผิดปกติ จัดเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ทำให้เกิดอาการเจ็บ บวม ช้ำบริเวณข้อเท้า หากมีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถขยับข้อเท้าข้างที่พลิกได้
โดยปกติแล้ว เส้นเอ็นที่ข้อเท้ามีหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวบริเวณข้อเท้า แต่กรณีที่เกิดการบิดหมุนของข้อเท้าเกินกว่าระยะที่สามารถยืดได้ตามปกติ ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุขณะเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เรียกว่าข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลง ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
รู้จักอาการของข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าพลิกหรือข้อเท้าแพลง มักเกิดจากการก้าวเท้าพลาด สะดุดพื้นที่ขรุขระหรือเป็นหลุม ลงน้ำหนักที่เท้าขณะกระโดดหรือวิ่งผิดจังหวะ หรือเกิดอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬา ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- เจ็บปวดบริเวณข้อเท้าข้างที่บาดเจ็บ โดยเฉพาะเวลาลงน้ำหนักที่เท้าหรือเมื่อจับข้อเท้า
- ข้อเท้าบวม ช้ำ
- ขยับข้อเท้าข้างที่บาดเจ็บได้ลำบาก
- ได้ยินเสียงในข้อเท้า
- ข้อเท้าเคลื่อนหรือข้อเท้าหลุด
ความรุนแรงของอาการข้อเท้าพลิกจะขึ้นอยู่กับความเสียหายของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น หากมีอาการข้อเท้าพลิกรุนแรง มีการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้า หรือกระดูกหัก จะทำให้มีอาการเจ็บปวด บวม และช้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจใช้เวลารักษาให้กลับมาเป็นปกตินานยิ่งขึ้น
การปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าพลิก
หากเกิดข้อเท้าพลิก ควรดูแลอาการเพื่อลดอาการปวดและบวม ดังนี้
1. ปฐมพยาบาลด้วยวิธี RICE
RICE เป็นวิธีปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วยอักษร 4 ตัวแรกของแต่ละขั้นตอนในการปฐมพบาบาล ดังนี้
- Rest คือการพักการใช้งานของข้อเท้าข้างที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อลดอาการปวดและป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้น
- Ice คือการประคบเย็นที่ข้อเท้าให้เร็วที่สุดหลังได้รับบาดเจ็บ โดยใช้เจลเย็นหรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งประคบบริเวณข้อเท้าที่มีอาการครั้งละ 15–20 นาที ทุก 2–3 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดอาการบวม
- Compression คือการพันผ้ายืดที่ข้อเท้า ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมได้ดี แต่ไม่ควรพันผ้าแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
- Elevation คือการยกข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน เช่น วางเท้าบนเก้าอี้ หรือใช้หมอนหนุนที่ข้อเท้า เพื่อช่วยลดอาการบวม
2. รับประทานยาแก้ปวด
คนที่ข้อเท้าพลิกที่มีอาการปวดข้อเท้า อาจรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ตามขนาดและวิธีรับประทานที่ระบุบนฉลากยา หรือตามที่เภสัชกรแนะนำ
อาการข้อเท้าพลิกของแต่ละคนอาจใช้เวลารักษาต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากบาดเจ็บเล็กน้อยมักใช้เวลารักษาไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่กรณีที่ข้อเท้าพลิกรุนแรงอาจใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6–12 สัปดาห์
หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ รู้สึกปวดข้อเท้าอย่างรุนแรงและข้อเท้าบวมมากจนไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา ซึ่งวิธีการรักษาอาจประกอบด้วยการใช้อุปกรณ์สวมพยุงข้อเท้า หรือไม้เท้าช่วยในการเดิน การทำหายภาพบำบัด และการผ่าตัด