คันมือเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

คันมือ (Itchy Hands) คือ อาการไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่งที่สร้างความลำบากและความรำคาญใจได้เมื่อมีอาการคัน แสบร้อน หรือระคายเคืองเกิดขึ้นที่มือ อาจเป็นอาการเพียงชั่วคราว สัญญาณของโรคผิวหนังเรื้อรัง หรืออาการของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น อาการมักจะบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัดหลังได้รับการวินิจฉัยและเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง

คันมือเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคันมือ

  • ผิวแห้ง เป็นสภาพผิวทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มักมีสาเหตุมาจากการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่รุนแรงเกินไป การสวมเสื้อผ้าที่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว รวมถึงการอาบน้ำอุ่นเป็นเวลานานทำให้ไขมันในชั้นผิวหนังพร่องลงไป ส่งผลให้เกิดการระคายเคือง ผิวลอก อักเสบ และคัน
  • ผิวที่ถูกทำลาย เป็นผลมาจากการขัดหรือการสครับ (Scrub) การสัมผัสสารเคมีบางชนิด หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีมากเกินไป ทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง แห้ง ลอก และมีอาการคัน
  • ผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นภาวะที่ผิวเกิดการระคายเคืองและอักเสบ เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ชนิดที่ทำให้เกิดอาการคันมือและเท้าคือ ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำใส (Dyshidrotic Dermatitis)
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคทางพันธุกรรมและมีสาเหตุหลายประการที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ เซลล์ผิวหนังบางส่วนเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นเกล็ด เป็นขุยหนาสีขาว เงิน หรือปื้นสีแดงที่ผิวหนัง และทำให้เกิดอาการคัน
  • หิด เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากตัวหิด ซึ่งเป็นไรชนิดหนึ่งที่อาศัยและวางไข่อยู่ตามผิวหนังของมนุษย์ ทำให้มีผื่นเป็นตุ่มแดงคันและตุ่มน้ำใส และมีอาการคันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • เบาหวาน อาการคันมือจากเบาหวานมักเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของยีสต์ที่ผิวหนัง ผิวแห้ง การไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี เป็นต้น
  • อาการแพ้ จากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เช่น สีย้อมผม สารกันบูด น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ผิวไหม้จากแสงอาทิตย์ แมลงกัด กลาก ดีซ่าน เป็นต้น

วิธีรักษาอาการคันมือ ทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน อาการจะบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัดหลังได้รับการวินิจฉัย อีกทั้งจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการคันมือไม่ควรเกาบ่อยหรือรุนแรงเกินไป เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนังได้

  • อาการคันมือที่มีสาเหตุมาจากผิวแห้ง ควรทาขี้ผึ้ง ครีมหรือโลชั่นบำรุงชนิดที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว วันละหลาย ๆ ครั้ง ในผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและเกิดอาการคันได้
  • อาการคันมือที่มีสาเหตุมาจากโรคสะเก็ดเงินที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาได้โดยการใช้ยาทาภายนอก เช่น ยาทาภายนอกรูปแบบครีมหรือน้ำมัน เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ (Retinoids) กรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) ยาในกลุ่มสารเลียนแบบวิตามินดี (Vitamin D Analogue) ยาแอนทราลิน (Anthralin) ยาโคลทาร์ (Coal Tar) เป็นต้น ส่วนอาการคันมือที่มีสาเหตุมาจากโรคสะเก็ดเงินที่มีอาการรุนแรง รักษาได้โดยการรับประทานหรือฉีดยาในกลุ่มเรตินอยด์เพื่อช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) หรือยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อกดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ไม่ให้อาการกำเริบ เป็นต้น
  • อาการคันมือที่มีสาเหตุมาจากโรคหิด รักษาได้โดยการใช้ยาทาภายนอก เช่น ขี้ผึ้งซัลเฟอร์ (Sulfur) ครีมเพอร์เมทริน (Permethrin) ครีมโครตาไมตอน (Crotamiton) โลชั่นเบนซิลเบนโซเอต (Benzyl Benzoate) โลชั่นลินเดน (Lindane) เป็นต้น
  • อาการคันมือที่มีสาเหตุมาจากเบาหวาน หากได้รับการวินิจฉัยและตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติได้เร็ว จะช่วยลดการเกิดอาการคันมือได้
  • การใช้ยาในการรักษาอาการคันมือ เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นต้น

การป้องกันอาการคันมือ

  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง จากภายนอกด้วยการทาครีมหรือโลชั่นบำรุงชนิดที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิว หรือจากภายในด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
  • สวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งก่อนหยิบจับ หรือสัมผัสสารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่รุนแรงเกินไป หรือสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแห้งและผิวแพ้ง่าย อาจทำให้เกิดอาการคันและอาการแย่ลงกว่าเดิม

คันมือเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งที่เป็นสภาพผิวทั่วไป โรคผิวหนัง หรืออาการข้างเคียงของโรคต่าง ๆ หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน รักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่แย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญต่อไป