คันหน้ายุบยิบ เรียนรู้สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

อาการคันหน้ายุบยิบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผิวแห้ง ปัญหาผิวหนัง แพ้ฝุ่น แพ้เครื่องสำอาง หรือเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของใบหน้า รวมถึงอาจเกิดขึ้นในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือมีอาการคันรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน

อาการคันหน้ายุบยิบโดยส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับการมีผื่นหรือสิวขึ้นบนใบหน้าด้วย แต่ในบางกรณี ก็อาจเกิดแค่อาการคันหน้าอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน อาการคันหน้ายุบยิบโดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ก็มีหลายวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการในเบื้องต้นและทำให้อาการคันหน้าที่เกิดขึ้นหายอย่างรวดเร็วได้

คันหน้ายุบยิบ

สาเหตุของอาการคันหน้ายุบยิบ

อาการคันหน้ายุบยิบสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

ปัญหาผิวหนัง

ปัญหาผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ผิวบอบบางแพ้ง่าย เป็นสาเหตุหลักที่มักทำให้เกิดอาการคันหน้ายุบยิบขึ้น โดยอาจเกิดจากการที่ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นจากอากาศที่แห้ง ผิวหนังสัมผัสกับสารเคมีที่รุนแรง หรือเกิดจากการล้างหน้าบ่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดได้จากปัญหาผิวหนังอื่น ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูขุมขนอักเสบ ลมพิษ กลาก เกลื้อน หิด หรือสะเก็ดเงิน

อาการแพ้

อาการคันหน้ายุบยิบอาจเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มาสัมผัสกับผิวหนังบริเวณใบหน้า ทำให้เกิดอาการคันหน้าตามมา อาการคันหน้ายุบยิบจากอาการแพ้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสาเหตุทั่วไป เช่น การโดนแมลงสัตว์กัดต่อย การแพ้ไรฝุ่น การแพ้น้ำประปา การแพ้มลภาวะต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงอาการแพ้ที่เกิดจากการรับประทานอาหารบางอย่าง หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง หรือยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาระงับปวดในกลุ่มยาโอปิออยด์ (Opioids) ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาลดความดันโลหิต หรือยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด

ผลข้างเคียงจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ 

อาการคันหน้ายุบยิบอาจมีสาเหตุจากโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างที่คุณไม่รู้ตัว เช่น การขาดธาตุเหล็ก การติดเชื้อเอชไอวี โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งผิวหนัง หรือโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงอาจเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทบริเวณใบหน้า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลางหรือระบบประสาทส่วนปลาย เช่น โรคงูสวัด โรคเบาหวาน โรคตับ หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) ก็ได้เช่นกัน

อาการคันหน้ายุบยิบที่เกิดจากภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงเหล่านี้ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท มักจะเกิดอาการคันหน้ายุบยิบร่วมกับอาการเสียวแปลบเหมือนโดนไฟช็อต และมักเกิดอาการคันแบบเรื้อรัง ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีเบื้องต้นในการรับมือเมื่อเกิดอาการคันหน้ายุบยิบ

อาการคันหน้ายุบยิบส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการรุนแรง เพียงแค่อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือรำคาญบริเวณผิวหน้าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการคันหน้ายุบยิบเกิดขึ้นแม้จะไม่รุนแรงมาก แต่ก็สามารถใช้วิธีเหล่านี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการและทำให้อาการหายเร็วขึ้นได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการเกาบริเวณใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการคันหน้ายุบยิบ เช่น ขนสัตว์ น้ำที่ไม่สะอาด เครื่องนอนที่ไม่สะอาด และบริเวณที่มีฝุ่น ควัน หรือมลภาวะในปริมาณมาก
  • หากสงสัยว่าอาการคันหน้ายุบยิบที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าหรือเครื่องสำอาง ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นและสังเกตว่าอาการบรรเทาลงหรือไม่
  • ประคบเย็นบริเวณใบหน้าหรือล้างหน้าด้วยน้ำเย็น เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ไม่ต้องเกาผิวหนังจนอาจเกิดอาการระคายเคืองมากขึ้น และอาจนำไปสู่การติดเชื้อตามมา
  • บำรุงผิวหน้าด้วยมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว อาจช่วยให้อาการคันหน้ายุบยิบลดลง แต่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคือง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนหรือสูตรสำหรับผิวแพ้ง่าย ซึ่งมักไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • ใช้ยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ยาทาแก้คัน คาลาไมน์โลชั่น หรือยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) แต่ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
  • หากมีอาการคันหน้ายุบยิบที่รุนแรงมากขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาทาแก้คันที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะอาจสามารถช่วยให้อาการคันหน้ายุบยิบบรรเทาลงได้

อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วอาการคันหน้ายุบยิบไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ มีสัญญาณของอาการติดเชื้ออย่างผิวหนังบวม แดง เจ็บปวด มีไข้ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้ต่อเนื่อง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดผิดปกติ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง พูดคุยหรือเคี้ยวอาหารลำบาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม