คันหัวนมเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง

คันหัวนมเป็นอาการกวนใจที่พบได้บ่อยและอาจทำให้หลายคนรู้สึกอายที่จะปรึกษาคนรอบข้าง โดยอาการนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการเสียดสีของเสื้อผ้า การอักเสบของผิวหนัง การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร ซึ่งอาการคันที่เกิดขึ้นจะมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน

ผู้ที่มีอาการคันหัวนมหรือคันบริเวณเต้านมมักรู้สึกอยากเกาผิวหนังบริเวณนั้น ซึ่งการเกาผิวหนังอาจช่วยบรรเทาอาการคันได้ในช่วงสั้น ๆ หากเการุนแรงจะทำให้เกิดแผลหรือเกิดการอักเสบของผิวหนังตามมาได้  บทความนี้จึงได้รวบรวมสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการคันหัวนมและวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นมาฝากกัน

คันหัวนม

สาเหตุทั่วไปของอาการคันหัวนม

ตามปกติแล้ว อาการคันหัวนมมักเกิดจากโรคไม่ร้ายแรง แต่หากมีอาการเรื้อรังอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยสาเหตุอาการคันหัวนมที่พบได้ทั่วไป เช่น 

เหงื่อและการเสียดสีของผิวหนัง

ผิวหนังบริเวณเต้านมอาจเสียดสีกับชุดชั้นในเมื่อออกกำลังกาย ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ที่สวมใส่สปอร์ตบรา (Sport Bra) ที่คับจนเกินไป อาจทำให้รู้สึกเจ็บและมีอาการแสบคันได้ นอกจากนี้ เหงื่อใต้ร่มผ้าหลังออกกำลังกายอาจยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการคันหัวนม และอาจนำไปสู่การติดเชื้อราที่ผิวหนังในเวลาต่อมา

ผิวหนังอักเสบ

กลุ่มอาการผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุและมีหลายรูปแบบ ซึ่งกลุ่มอาการที่มักทำให้เกิดอาการคันหัวนม ได้แก่

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นสาเหตุของอาการคันหัวนมที่พบได้บ่อย โดยเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งและมีผื่นคันที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
  • โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) เกิดจากการสัมผัสสารเคมีที่ทำให้เกิดความระคายเคืองเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง เช่น สบู่ น้ำหอม และผงซักฟอก หรืออาจเกิดจากการสวมใส่ชุดชั้นในที่มีเนื้อผ้าหยาบและใช้สีย้อมผ้าที่ระคายเคืองผิว จึงทำให้หัวนมลอก แดง หรือคัน

การตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์หลายคนอาจมีอาการคันหัวนมหรือเต้านม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ และการขยายตัวของผิวหนังบริเวณหัวนมและเต้านมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการให้นม ทำให้เกิดอาการคันและเกิดรอยแตกลายบริเวณเต้านมได้

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบร่วมด้วย โดยอาการจะคล้ายกับโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น ผิวแห้งหยาบ มีผื่นแดงและคันตามร่างกาย รวมถึงบริเวณเต้านมได้

เต้านมอักเสบ (Mastitis) 

เต้านมอักเสบเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคุณแม่ที่ให้นมบุตร โดยอาจเกิดจากการมีน้ำนมเก่าค้างมากเกินในเต้านม ท่อน้ำนมอุดตัน หรือการให้นมลูกไม่ถูกวิธี จึงทำให้ไม่สามารถระบายน้ำนมออกได้และเกิดการอักเสบภายในเต้านม ทำให้เกิดอาการคัน คัดตึง ปวดบวม หรือเจ็บเต้านม

นอกจากนี้ ผู้ที่ให้นมบางคนอาจมีอาการคันจากการติดเชื้อราบริเวณหัวนม (Thrush) ซึ่งเชื้อจะเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นและความอบอุ่นเพียงพอ หากไม่ทำความสะอาดบริเวณหัวนม และลานนมให้สะอาดหลังการให้นม หรือมีรอยแตกและมีอาการเจ็บหัวนมอยู่ก่อนแล้ว อาจยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยเชื้อรานี้อาจแพร่ไปสู่ลูกผ่านการดูดนม และทำให้เกิดการติดเชื้อราในปาก (Oral Thrush) ของลูกน้อยได้

สาเหตุอื่น ๆ

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการคันหัวนม ได้แก่

  • สภาพอากาศแห้งและเย็น ซึ่งมักทำให้ผิวแห้ง คัน หรือลอก ซึ่งอาจทำให้ผิวบริเวณเต้านมและหัวนมมีอาการคันได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก่อนและระหว่างมีประจำเดือน ทำให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น จึงเกิดอาการคัดตึงและคันบริเวณเต้านม หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงวัยทอง (Menopause) ซึ่งทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองง่าย
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดผื่นแดงที่มีลักษณะหนาและมีขุยสีขาว มักพบที่หนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า และอาจพบที่บริเวณเต้านมได้
  • การฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็ง โดยเฉพาะการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดอาการแห้ง แดง คัน และลอก
  • มะเร็งที่หัวนม (Paget's disease of the breast) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้น้อย แต่อาจเป็นสาเหตุของอาการคันหัวนมได้ โดยอาการในระยะแรกจะคล้ายกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งผิวหนังบริเวณเต้านมและหัวนมอาจเป็นผื่นแดง ผิวแตกเป็นสะเก็ด หรือมีน้ำเหลืองไหลจากเต้านมได้
  • มะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ (Inflammatory Breast Cancer) เป็นมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรงที่พบได้น้อยมาก โดยอาจทำให้ผิวบริเวณเต้านมเกิดผื่นแดง ช้ำ และมีอาการบวม เจ็บ หรือคัน

รักษาอาการคันหัวนมได้อย่างไร

การรักษาอาการคันหัวนมอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการดูแลตัวเองและใช้ยาทาบรรเทาอาการที่หาซื้อได้ทั่วไป ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดหรือการอาบน้ำเป็นเวลานาน เพราะการอาบน้ำที่มีอุณหภูมิสูงจะทำให้ผิวแห้งและคันได้ง่าย จึงควรอาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวเพื่อป้องกันการเกิดอาการคัน
  • ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) ทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและป้องกันการเกิดอาการคัน โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่น เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) น้ำมันมะกอก และโจโจ้บาออยล์ (Jojoba Oil) หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำหอมและสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง 
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยอาจทำให้ผิวระคายเคือง เช่น ผ้าขนสัตว์ (Wool) ผ้าแคชเมียร์ (Cashmere) หรือผ้าใยสังเคราะห์ ควรเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ อย่างผ้าฝ้าย หรือผ้าลินิน นอกจากนี้ คุณแม่ที่ให้นมบุตรควรเลือกชุดชั้นในสำหรับให้นมที่ทำจากใยผ้าธรรมชาติ ซึ่งสวมใส่สบายและช่วยระบายอากาศได้ดี
  • เลือกชุดชั้นในให้กระชับพอดีกับเต้านม และหากออกกำลังกายควรสวมใส่สปอร์ตบราที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดีและไม่รัดแน่นจนเกินไป 
  • ทาปิโตรเลียม เจลลี่หรือครีมให้ความชุ่มชื้นในบริเวณที่มีอาการคันก่อนการออกกำลังกาย และอาบน้ำให้สะอาดหลังออกกำลังกาย เพื่อลดการสะสมของเหงื่อและแบคทีเรียที่อาจเป็นสาเหตุของอาการคันหัวนม
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าที่ไม่ผสมสารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยอาจเลือกผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน ไม่ทิ้งสารตกค้างในเนื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ที่ทำให้โอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่าปกติ (Hypoallergenic Products)

การใช้ยาทาผิวชนิดครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อย่างไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocotisone) อาจช่วยบรรเทาอาการบวม คัน และลดการอักเสบของผิวจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือการรักษาด้วยการฉายรังสีได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ 

หากอาการคันหัวนมเกิดจากภาวะเต้านมอักเสบ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะควบคู่ไปกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ และในกรณีที่อาการคันหัวนมเกิดจากโรคมะเร็งที่หัวนมหรือมะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งการรักษาอาจประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด (Chemotherapy)

อาการคันหัวนมเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปและมีที่มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่มักบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในการดูแลตนเอง อย่างไรก็ตาม หากดูแลตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อมองหาสัญญาณของโรคร้ายแรงต่อไป