คุณแม่ท้อง 9 เดือน กับการเปลี่ยนแปลงช่วงใกล้คลอด

ท้อง 9 เดือนเป็นเดือนสุดท้ายที่คุณแม่ใกล้จะได้พบกับสมาชิกใหม่ของครอบครัว โดยทารกในครรภ์มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่ครบสมบูรณ์และพร้อมที่จะลืมตาดูโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้คุณแม่ส่วนใหญ่มักไม่ได้คลอดตรงกับวันกำหนดคลอด จึงอาจรู้สึกกังวลว่าจะคลอดลูกน้อยได้อย่างสมบูรณ์ปลอดภัยหรือไม่

ความเครียดและความกังวลขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ การเรียนรู้พัฒนาการของทารกในครรภ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จะช่วยให้คุณแม่ทราบวิธีดูแลสุขภาพที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดได้ดียิ่งขึ้น

Nine-Month Pregnancy

ท้อง 9 เดือนกับพัฒนาการทารกแต่ละสัปดาห์

สัปดาห์ที่ 37

ในสัปดาห์ที่ 37 ทารกจะมีความยาวประมาณ 48 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 2.8 กิโลกรัม โดยในแต่ละวันน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 14 กรัม อวัยวะหลักในร่างกายทำงานได้เกือบสมบูรณ์ มีเพียงปอดและสมองที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่

ในระยะนี้ในลำไส้ของทารกจะผลิตขี้เทา (Meconium) ซึ่งเป็นอุจจาระของทารกในครรภ์ มีลักษณะเหนียวข้นและมีสีเขียวเข้ม โดยทารกจะขับถ่ายออกมาในช่วง 2–3 วันแรกหลังคลอด นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ 37 ทารกส่วนใหญ่มักมีเส้นผมขึ้นทั่วทั้งศีรษะ โดยมีความยาวประมาณ 1–3 เซนติเมตร ซึ่งเส้นผมชุดนี้อาจไม่เป็นสีเดียวกับสีผมของคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มหลุดร่วงและมีเส้นผมชุดใหม่ขึ้นมาแทน

สัปดาห์ที่ 38

ในสัปดาห์นี้ ทารกในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของทารกในสัปดาห์นี้อาจช้าลงเล็กน้อย โดยเส้นผมชุดแรก (Lanugo) และไขที่เคลือบผิวหนังของทารก (Vernix Caseosa) จะเริ่มหลุดร่วงและสลายไป เซลล์ไขมันในร่างกายทารกเริ่มสะสมใต้ผิวหนังมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตภายนอกมดลูกของคุณแม่หลังคลอด นอกจากนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของทารกจะพัฒนาขึ้นเพื่อปกป้องร่างกายจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ 

สัปดาห์ที่ 39

เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 39 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 3.3 กิโลกรัม กล้ามเนื้อแขนและขาของทารกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ มีเล็บมือและเล็บเท้าครบถ้วน เซลล์ไขมันใต้ผิวหนังจะสะสมเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกหลังคลอด นอกจากนี้ทารกในครรภ์จะเริ่มกลับหัวลงสู่ช่องเชิงกราน ซึ่งตำแหน่งของทารกจะอยู่ต่ำลงมากว่าตำแหน่งเดิม ทำให้คุณแม่หายใจได้สะดวกขึ้น 

สัปดาห์ที่ 40

ทารกในสัปดาห์ที่ 40 จะมีน้ำหนักประมาณ 3.4 กิโลกรัม โดยทารกเพศชายอาจมีน้ำหนักตัวมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ในสัปดาห์นี้ ร่างกายทารกจะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมออกมาดูโลกภายนอกแล้ว โดยเส้นผมชุดแรกของทารกมักหลุดร่วงไปจนหมดหรืออาจหลงเหลืออยู่บ้างหลังคลอด ผิวหนังของทารกมีลักษณะบางจนสามารถเห็นหลอดเลือดแดงใต้ผิวหนัง ทำให้สีผิวของทารกแรกเกิดเป็นสีแดงอมม่วง จากนั้นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงอมชมพู และเม็ดสีผิวจะเริ่มสร้างสีผิวถาวรหลังคลอดได้ 6 เดือน  

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่เมื่อตั้งท้อง 9 เดือน

การตั้งครรภ์ในเดือนที่ 9 ร่างกายคุณแม่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่แตกต่างกัน อาการที่มักพบบ่อย ได้แก่

  • อาการท้องลดหรือตำแหน่งหน้าท้องของคุณแม่ลดต่ำลง เนื่องจากทารกเริ่มเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น คุณแม่จะเริ่มหายใจได้สะดวกขึ้น แต่อาจรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน รู้สึกถึงแรงกดที่บริเวณท้อง และปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • มีมูกสีขาวไหลออกมาทางช่องคลอด (Mucus Plug) โดยมักเริ่มไหลออกมาก่อนการคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
  • ข้อเท้าและเท้าบวม แต่หากสังเกตว่ามีอาการบวมอย่างฉับพลัน หรือบวมตำแหน่งอื่นร่วมด้วยอย่างมือ ใบหน้าและรอบดวงตา น้ำหนักขึ้นผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
  • ปวดหลัง อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และฝันร้ายจากความวิตกกังวลในช่วงใกล้คลอด

สังเกตสัญญาณผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์เป็นพิเศษ โดยแพทย์อาจให้นับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นเพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ หากทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งในระยะเวลา 2–3 ชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณความผิดปกติของทารกในครรภ์ คุณแม่จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

โดยปกติแล้วอายุครรภ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ระหว่าง 37–41 สัปดาห์ และจะถือว่าอายุครรภ์เกินกำหนดเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 42 ของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาและประเมินความเสี่ยงก่อนใช้วิธีการชักนำคลอด (Induction of Labor) ซึ่งเป็นวิธีกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บท้องคลอด ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 41 สัปดาห์ และยังไม่มีการเจ็บท้องคลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง มีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะ เห็นภาพเบลอหรือเห็นแสงวูบวาบ ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

ช่วงใกล้คลอด คุณแม่ควรปรึกษาและเตรียมวางแผนการคลอดกับแพทย์ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอด จัดเตรียมของใช้ล่วงหน้าสำหรับวันคลอด ศึกษาเส้นทางการไปโรงพยาบาล และพูดคุยกับคุณพ่อหรือคนในครอบครัวเพื่อคอยช่วยเหลือดูแลคุณแม่หรือเป็นธุระคอยติดต่อในเรื่องต่าง ๆ ที่โรงพยาบาล

โดยทั่วไปคุณแม่หลายคนอาจคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นวิธีการคลอดปกติที่ที่มีความปลอดภัยต่อคุณแม่และลูก ใช้เวลาพักฟื้นน้อย และสามารถให้นมได้เร็ว แต่ในบางกรณีคุณแม่อาจไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ เช่น ทารกไม่อยู่ในท่าเอาหัวลง ทารกตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดทางช่องคลอดได้ หรือคุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก

คุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการใกล้คลอดแตกต่างกัน เช่น มีมูกสีขาวไหลออกมาทางช่องคลอด น้ำเดิน เจ็บท้องถี่และแรงขึ้นเป็นจังหวะ ปวดหลัง และท้องเสีย การสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอจะช่วยให้คุณแม่ทราบและเตรียมความพร้อมเพื่อไปโรงพยาบาลได้ทันทีหากมีอาการใกล้คลอด 

เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดคลอด คุณแม่ท้อง 9 เดือนอาจวิตกกังวลได้ง่าย ทั้งนี้ การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นร่างกายคุณแม่ และการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง คลายความกังวลใจ และเตรียมพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อยที่จะลืมตาดูโลกได้อย่างราบรื่น