การตรวจโรคซึมเศร้าคือการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เพื่อประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยการตรวจอาจต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน ได้แก่ การซักประวัติ การทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้า และการตรวจร่างกายเพื่อคัดกรองความเป็นไปได้ของโรคอื่น ๆ ออกไป ผู้ที่รับการตรวจควรให้ความร่วมมือกับแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
โรคซึมเศร้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสภาวะทางจิตใจที่หดหู่และเศร้าหมองมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับ การกิน และการทำงาน โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม สภาวะทางจิตหรือบุคลิกนิสัย
สัญญาณที่ควรตรวจซึมเศร้า
โรคซึมเศร้ามักแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อาการบางอย่างอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าได้ โดยผู้ที่สงสัยว่าตนอาจเป็นโรคซึมเศร้าสามารถทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าออนไลน์ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในเบื้องต้น และพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
สัญญาณโรคซึมเศร้า มีดังนี้
- อาการเศร้า หดหู่ หรือสูญเสียความรู้สึกสนใจ หรือพอใจในกิจกรรมต่าง ๆ ในเกือบทุกวัน ติดกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน
- รู้สึกเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ
- จดจ่อสมาธิได้ยาก มีปัญหาเรื่องการจดจำและการตัดสินใจ
- นอนหลับมากเกินไป หรือมีปัญหานอนไม่หลับ
- กินอาหารมากเกินกว่าปกติ หรือเบื่ออาหาร
- มีความคิดเกี่ยวกับความตาย การฆ่าตัวตาย รวมถึงการพยายามฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม เด็ก และวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอาจแสดงอาการหงุดหงิดมากกว่าความรู้สึกเศร้าได้
รู้จักการตรวจโรคซึมเศร้า
การตรวจโรคซึมเศร้าไม่สามารถวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเท่านั้น เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
ในขั้นแรก แพทย์อาจซักประวัติและให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าเพื่อประเมินสัญญาณและความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้า โดยถามถึงปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย การใช้ยา ครอบครัว การใช้ชีวิต สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด และเช็กว่าผู้ป่วยเคยมีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือเคยมีความต้องการฆ่าตัวตายหรือไม่
นอกจากนี้ แพทย์อาจถามข้อมูลของผู้ป่วยเพิ่มเติมจากเพื่อนหรือครอบครัวของผู้ป่วย ก่อนที่จะดำเนินการตรวจโรคในขั้นต่อไป
ตรวจโรคซึมเศร้าด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หลังจากการซักประวัติ แพทย์อาจต้องคัดกรองโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการป่วย ด้วยการพิจารณาให้ผู้ป่วยตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือด เพื่อเช็กความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์
- ตรวจการทำงานของไทรอยด์ เพื่อคัดกรองโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า เช่น ภาวะขาดไทรอยด์
- ตรวจเลือดเพื่อเช็กการทำงานของตับ และไต เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการให้ยาที่เหมาะสม
- ตรวจการคัดกรองสารพิษของร่างกาย ด้วยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ เพื่อเช็กปริมาณยาที่สะสมในร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย
- ทำซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอสแกนที่สมองเพื่อคัดกรองโรคหรือปัญหาเกี่ยวกับสมองออก
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalogram) เพื่อบันทึกกิจกรรมที่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในสมอง
วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจโรคซึมเศร้า
เพื่อให้การตรวจโรคซึมเศร้าสามารถวินิจฉัยผลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เข้ารับการตรวจควรพยายามเปิดใจและให้ความร่วมมือกับแพทยด้วยการตอบคำถามตามความจริง รวมถึงอธิบายลักษณะอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเพื่อให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของอาการ
ผู้ป่วยสามารถเตรียมตัวก่อนตรวจได้ด้วยการจดบันทึกเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น พฤติกรรมที่ผิดปกติของตนเอง ปัญหาสุขภาพที่เคยมี การใช้ยาต่าง ๆ นิสัยการนอนหลับ การใช้ชีวิต เรื่องเครียด และคำถามอื่น ๆ เกี่ยวกับโรคที่ต้องการสอบถามแพทย์ การจดบันทึกจะช่วยป้องกันไม่ให้ลืมรายละเอียดที่สำคัญได้ดี
ผู้ที่สงสัยว่าตนหรือคนใกล้ตัวอาจเป็นโรคซึมเศร้า อาจลองทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าออนไลน์เพื่อช่วยตัดสินใจในการนัดแพทย์ ในส่วนผู้ที่มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย สามารถรับการปรึกษาจากการโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรืออาจใช้บริการปรึกษาออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต” โดยจะมีแชทบอทช่วยตอบคำถามเบื้องต้น แต่สามารถขอคุยกับนักจิตวิทยาได้ด้วยเช่นกัน