ตาไม่เท่ากัน หมายถึงดวงตาที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ตรงกัน ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไป และมักไม่เป็นปัญหาต่อการมองเห็น แต่บางครั้งก็อาจมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่างซึ่งส่งผลให้ตาไม่เท่ากันจนเป็นที่สังเกตได้ชัดและส่งผลต่อความมั่นใจ
โดยปกติแล้วรูปหน้าที่ได้สัดส่วนและสมมาตรนั้นจะหายากกว่ารูปหน้าที่ไม่สมมาตรกัน ใบหน้าที่มีรูปร่าง ขนาด หรือตำแหน่งของตาไม่เท่ากันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกและสามารถพบได้ทั่วไป แต่หากลักษณะตาไม่เท่ากันเห็นได้ชัดเจนมาก ก็อาจทำให้บางคนไม่มั่นใจในรูปลักษณ์หรือกังวลถึงปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นการรู้สาเหตุและแนวทางแก้ไขจึงอาจช่วยให้รับมือกับตาไม่เท่ากันได้ดีขึ้น
7 สาเหตุที่ส่งผลให้ตาไม่เท่ากัน
ตาที่มีรูปร่าง ขนาด และตำแหน่งไม่เหมือนกันทั้งสองข้างนั้นอาจจะเกิดได้จากสาเหตุธรรมชาติ หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น
1. พันธุกรรม
ตาไม่เท่ากันอาจเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับมาจากพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายในครอบครัวได้เช่นเดียวกับลักษณะอื่น ๆ บนใบหน้าหรือร่างกาย โดยนอกจากตาแล้ว ลักษณะทางพันธุกรรมอื่น ๆ เช่น คิ้วที่ไม่เท่ากัน หรือรูปทรงจมูกก็อาจส่งผลให้มองเห็นว่าตาไม่เท่ากันได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าตาไม่เท่ากันมีสาเหตุจากลักษณะทางพันธุกรรมหรือไม่ ก็อาจลองใช้วิธีสังเกตใบหน้าคนในครอบครัวเพื่อดูความคล้ายคลึงได้
2. อายุ
อายุเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทั่วไปที่ส่งผลให้ตาไม่เท่ากัน เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังและเนื้อเยื่อจะสูญเสียอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ความยืดหยุ่นแก่ร่างกายไป ทำให้ผิวหนังไม่เต่งตึงและเหี่ยวย่นลง โดยผิวหนังที่เหี่ยวย่นบริเวณหน้าอาจทำให้ลักษณะใบหน้าเปลี่ยนไปและดูไม่สมมาตรมากขึ้น
3. โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นโรคที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงเฉียบพลัน จึงอาจทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณตาและคิ้วได้ยากจนเหมือนตาไม่เท่ากัน สาเหตุของโรคนั้นยังไม่แน่ชัด แต่อาการของโรคจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองหลังผ่านไปหลายสัปดาห์ โดยอาการอื่น ๆ ของโรคยังรวมไปถึง น้ำลายไหล รับรสไม่ได้ ปวดหัว หรือเจ็บบริเวณที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ถึงแม้โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะสามารถดีขึ้นเองได้ แต่หากมีอาการหน้าเบี้ยวเกิดขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจในทันทีเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อ่อนแรงครึ่งซีกยังอาจเป็นอาการของสโตรก (Stroke) ได้ด้วย
4. เบ้าตาลึก (Enophthalmos)
เบ้าตาลึกคืออาการที่ลูกตาอยู่ลึกกว่าเบ้า ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนตาไม่เท่ากันได้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บที่ดวงตา เช่น ถูกต่อย หรือรถชน แต่ก็อาจมาจากโรคบางอย่าง เช่น มะเร็ง เอชไอวี (HIV) หรือปัญหาเกี่ยวกับไซนัสบริเวณจมูก
5. หนังตาตก (Ptosis)
หนังตาตกคืออาการที่หนังตาหย่อนลงมาด้านข้างหรือด้านหน้า ซึ่งหากหย่อนลงมามาก ๆ ก็อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้ อาการหนังตาตกสามารถเกิดได้ที่ดวงตาทั้งสองข้าง โดยหากเกิดทั้งสองข้างก็จะทำให้ใบหน้าดูเหนื่อยล้า แต่หากเกิดข้างเดียวก็อาจทำให้ดูเหมือนว่าตาไม่เท่ากัน
หนังตาตกอาจเป็นตั้งแต่เกิดหรือเป็นในภายหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหนังตาอ่อนแรงและหย่อนลงมาก็ได้ รวมถึงยังอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ตา ปัญหาที่ระบบประสาท และโรคบางอย่างซึ่งทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นอ่อนแอลงจนไม่สามารถยกหนังตาได้
6. ตาโปน (Exophthalmos)
ตาโปนคืออาการที่ลูกตานูนออกมานอกเบ้าตา ซึ่งอาจทำให้ใบหน้าดูเหมือนตกใจตลอดเวลา อาการนี้สามารถเกิดได้กับตาทั้งสองข้าง แต่ถ้าเกิดข้างเดียวก็อาจทำให้ตาไม่เท่ากันได้ สาเหตุของอาการตาโปนส่วนใหญ่จะมาจากโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ อย่างโรคเกรฟส์ (Graves' Disease) หรือภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งส่งผลให้เนื้อเยื่อหลังลูกตาบวมและดันลูกตาให้นูนออกมา
7. เนื้องอกในตา
เนื้องอกในตาหรือบริเวณตาอาจทำให้ตาโปนและส่งผลให้ตาไม่เท่ากันได้ เนื้องอกในตานั้นมีทั้งแบบที่ก่อมะเร็งและไม่ก่อมะเร็ง โดยเนื้องอกที่เกิดบริเวณดวงตาอาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น มองเห็นไม่ชัด เห็นแสงวาบ เห็นจุดลอยไปมา อ่อนไหวต่อแสง ลูกตาเปลี่ยนรูปร่าง ตาอักเสบบวมแดง และสูญเสียการมองเห็น
แนวทางแก้ไขตาไม่เท่ากัน
การแก้ไขตาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ โดยหากตาไม่เท่ากันเกิดจากปัญหาสุขภาพก็ควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยจักษุแพทย์ แต่สำหรับอาการตาไม่เท่ากันที่เกิดจากพันธุกรรม อายุ หนังตาตกหรือเบ้าตาลึก ก็อาจมีแนวทางแก้ไขหลายอย่าง เช่น
- แต่งหน้าเพื่อทำให้ตาเท่ากัน โดยอาจใช้เทคนิคการคอนทัวร์ (Contour) หรือไฮไลท์ (Highlight) และอื่น ๆ เพื่ออำพรางหรือทำให้ดวงตาดูมีมิติเหมือนกับอีกข้าง รวมถึงอาจลองใช้ดินสอเขียนคิ้วและแป้งพัฟเพื่อจัดการคิ้วไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลให้ตาไม่เท่ากันได้ด้วยเช่นกัน
- ฉีดโบท็อกซ์ (Botox) บริเวณรอบดวงตาหรือบริเวณคิ้วเพื่อแก้ไขตาไม่เท่ากัน
- การผ่าตัดเปลือกตา (Blepharoplasty) อาจช่วยแก้ไขตาไม่เท่ากันที่เกิดจากหนังตาตก และเบ้าตาลึกได้
ผู้ที่มีตาไม่เท่ากันจากสาเหตุตามธรรมชาติอย่างพันธุกรรมหรืออายุนั้นสามารถปรึกษากับแพทย์เพื่อทำการแก้ไขได้ หากตาไม่เท่ากันส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ แต่ผู้ที่มีตาไม่เท่ากันและมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพควรเข้ารับการตรวจดวงตา เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาที่ทันท่วงที