หากจะพูดถึงประโยชน์ของน้ำอ้อย บางคนอาจนึกไม่ถึงว่าเครื่องดื่มรสหวานก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้เช่นกัน น้ำอ้อยเกิดจากการนำลำต้นของอ้อยมาคั้นน้ำออกมา น้ำอ้อยที่ขายโดยทั่วไปมักไม่ผ่านการสังเคราะห์ ทำให้ยังสามารถเก็บรักษาวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ไว้ได้ ด้วยเหตุนี้น้ำอ้อยจึงไม่ได้มีแค่รสชาติหวานชื่นใจเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย
น้ำอ้อย 1 แก้วที่มีปริมาณ 240 มิลลิลิตรสามารถให้พลังงานได้ถึง 183 แคลลอรี่ ให้น้ำตาลประมาณ 50 กรัมและให้ใยอาหารเล็กน้อย อีกทั้งยังประกอบไปด้วยวิตามินบี 1 หรือไทอะมีน (Thiamine) วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียมด้วย ซึ่งมีหลายงานวิจัยพบว่าการบริโภคน้ำอ้อยอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ บทความนี้จะนำเสนอประโยชน์ของน้ำอ้อยที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ประโยชน์ของน้ำอ้อยที่มีมากกว่าแค่ความหวาน
การบริโภคน้ำอ้อยมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น
ช่วยดับกระหายและทดแทนการสูญเสียน้ำหลังออกกำลังกาย
หลังออกกำลังกายร่างกายจะสูญเสียน้ำและน้ำตาลออกไปทางเหงื่อ ทำให้รู้สึกเพลียหรือหมดแรง น้ำอ้อยซึ่งประกอบไปด้วยน้ำ น้ำตาล และแร่ธาตุบางชนิด จึงสามารถนำมาดื่มเพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่ร่างกายสูญเสียไปได้ อีกทั้งน้ำอ้อยยังมีปริมาณแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตสูงจึงช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายด้วย
โดยปกติแล้วผู้ที่ออกกำลังกายจะนิยมดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เรียกว่า Sport drink หลังจากออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่ระบุว่าน้ำอ้อยอาจช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำหลังออกกำลังกายได้ดีกว่าเครื่องดื่มเกลือแร่หรือน้ำเปล่า เพราะน้ำอ้อยช่วยเพิ่มการสังเคราะห์ไกลโคลเจนในกล้ามเนื้อ ทำให้สามารถฟื้นฟูพลังงานในกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายได้ดีกว่า
ช่วยขับปัสสาวะและเสริมการทำงานของไต
น้ำอ้อยมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ การดื่มน้ำอ้อยจะช่วยทำให้น้ำและโซเดียมส่วนเกินภายในร่างกายถูกขับออกมาทางปัสสาวะและทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงอาจช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะอื่น ๆ ด้วย เช่น การดื่มน้ำอ้อยผสมกับน้ำมะนาวและน้ำมะพร้าวอาจทำให้อาการปัสสาวะขัดหรืออาการปวดแสบปวดร้อนที่เกิดขึ้นขณะปัสสาวะลดลงได้
ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
น้ำอ้อยมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น สารประกอบฟีโนลิก (Phenolic) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่มีคุณสมบัติป้องกันสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบและอาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเกี่ยวกับระบบประสาท และโรคมะเร็งผิวหนัง การดื่มน้ำอ้อยจึงอาจช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
ช่วยลดอาการแพ้ท้อง
การดื่มน้ำอ้อยที่ผสมน้ำขิงในปริมาณเล็กน้อยอาจช่วยลดอาการแพ้ท้อง ในผู้ที่ตั้งครรภ์ได้ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณน้ำอ้อยที่แพทย์แนะนำต่อวันก่อนการบริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอื่น ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น น้ำหนักเพิ่ม ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจ
ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำอ้อย
แม้ว่าน้ำอ้อยจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่อาจไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย รวมถึงควรศึกษาข้อควรระวังก่อนการบริโภค ดังนี้
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำอ้อยเนื่องจากมีน้ำตาลปริมาณมาก แม้ว่าน้ำตาลในน้ำอ้อยจะเป็นน้ำตาลซูโครสซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่ดูดซึมได้ช้ากว่าน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างน้ำตาลกลูโคส แต่ก็สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน
- การบริโภคน้ำอ้อยในปริมาณที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ เช่น น้ำหนักเพิ่ม ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจ
- น้ำอ้อยบางยี่ห้ออาจมีการใส่สารกันบูด สารแต่งกลิ่น และน้ำตาล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดคุณค่าทางโภชนาการด้วย จึงควรดื่มน้ำอ้อยคั้นสดหรือน้ำอ้อยแท้ 100% เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด
- การดื่มน้ำอ้อยคั้นสดที่ขายทั่วไปควรเลือกร้านที่มีกรรมวิธีการผลิตที่สะอาดปลอดภัย ส่วนการดื่มน้ำอ้อยในรูปแบบขวดพร้อมดื่มที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ ควรตรวจสอบฉลากโภชนาการ รวมทั้งดูวันผลิต วันหมดอายุ และความผิดปกติอื่น ๆ บนบรรจุภัณฑ์ก่อน
- น้ำอ้อยสดอาจหมดอายุได้ง่าย เมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์แล้วควรดื่มให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเก็บเป็นเวลานาน เนื่องจากการดื่มน้ำอ้อยที่หมดอายุอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้
เมื่อได้ทราบประโยชน์ของน้ำอ้อยแล้ว ผู้อ่านอาจจะหันมาเลือกดื่มน้ำอ้อยแทนเครื่องดื่มรสหวานประเภทอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรดื่มน้ำอ้อยในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพนั่นเอง