ปวดก้นกบเป็นอาการปวดบริเวณส่วนปลายของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากอาการบาดเจ็บ การนั่งเป็นเวลานาน การตั้งครรภ์ รวมถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยการรักษาและบรรเทาอาการปวดก้นกบอย่างถูกต้องอาจช่วยลดอาการปวดและอาการไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นได้
ปวดก้นกบเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักพบบ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งนอกจากอาการปวดก้นกบแล้ว ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง มีก้อนเนื้อนูนบริเวณก้นกบ โดยอาการปวดก้นกบอาจรุนแรงขึ้นขณะที่กำลังเปลี่ยนเป็นท่านั่งหรือท่ายืน ขณะที่กำลังขับถ่าย หรือขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่สะดวกได้
สาเหตุของอาการปวดก้นกบ
อาการปวดก้นกบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. อาการบาดเจ็บ
ปวดก้นกบอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น การล้มหงายหลังและก้นกบกระแทกพื้น ตกบันได ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลฟกช้ำ กระดูกก้นกบเคลื่อน หรือกระดูกก้นกบหัก โดยการได้รับบาดเจ็บบริเวณก้นกบอาจทำให้เกิดการอักเสบและปวดก้นกบตามมาได้
นอกจากนี้ ปวดก้นกบยังอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่อาศัยการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบริเวณก้นกบซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การปั่นจักรยาน การพายเรือ โดยกีฬาและกิจกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณก้นกบถูกใช้งานหนักเกินไป และเกิดอาการปวดได้
2. การนั่งเป็นเวลานาน
การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานโดยเฉพาะการนั่งบนพื้นผิวที่แข็ง หรือการนั่งในท่าที่ไม่สะดวก อาจทำให้บริเวณก้นกบถูกกดทับและเกิดอาการปวดก้นกบตามมาได้
3. การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนบางชนิดที่ส่งผลให้กระดูกเชิงกราย รวมถึงกระดูกก้นกบยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่ในบางกรณี ฮอร์โมนชนิดนี้อาจทำให้กระดูกบริเวณก้นกบยืดหยุ่นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่ห่อหุ้มกระดูกยืดออกตาม และอาจทำให้เกิดอาการปวดก้นกบขึ้นได้
นอกจากนี้ อาการปวดก้นกบยังอาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณกระดูกก้นกบเกิดการยืดและหดตัวขณะคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดก้นกบได้เช่นกัน
4. น้ำหนักตัว
น้ำหนักตัวอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ หากน้ำหนักตัวมาก บริเวณก้นกบอาจถูกกดทับขณะนั่งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้
แต่ในขณะเดียวกัน หากน้ำหนักตัวน้อยเกินไป บริเวณก้นอาจมีไขมันไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้กระดูกก้นกบเกิดการเสียดสีกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงข้อต่อต่าง ๆ และอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบและอาการปวดก้นกบตามมาได้
5. ก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้น (Pilonidal Cyst)
ปวดก้นกบอาจเกิดจากก้อนใต้ผิวหนังบริเวณก้นหรือไพโลไนดาล ซีสต์ (Pilonidal Cyst) ซึ่งเป็นปัญหาทางผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อมีถุงน้ำใต้ผิวหนัง โดยอาจสังเกตได้จากก้อนนูนบริเวณก้นกบหรือบริเวณเหนือร่องก้น หากก้อนซีสต์เกิดการติดเชื้อ บริเวณก้อนเนื้อนูนอาจรู้สึกปวด บวม แดง มีเลือดหรือหนองไหล และส่งกลิ่นเหม็น
6. มะเร็ง
ในบางกรณี อาการปวดก้นกบอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับบริเวณก้นกบ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูกชนิดคอร์โดมา มะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้ อาการปวดก้นกบที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งมักพบได้ไม่บ่อย แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ชาตามแขน ขา และขาหนีบ ขับถ่ายลำบาก ก้อนเนื้อนูนบริเวณก้นกบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียง่าย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ หากมีอาการดังกล่าวเพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุอย่างถูกต้อง เพราะสัญญาณเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งได้
วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบอย่างเหมาะสม
อาการปวดก้นกบอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งในระหว่างนี้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- ลุกขึ้นยืนทุก ๆ 30 นาที เพื่อพักจากการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดก้นกบประมาณ 20 นาที
- ใช้เบาะรองนั่งรูปทรงต่าง ๆ เช่น เบาะรองนั่งรูปตัว U หรือเบาะรองนั่งที่มีรูตรงกลาง เพื่อลดอาการปวดก้นกบ
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรืออาจใช้ยานวดคลายกล้ามเนื้อเพื่อรักษาอาการปวด
- รับประทานยาระบายที่มีฤทธิ์ช่วยให้อุจจาระนิ่ม เพื่อลดอาการปวดก้นกบขณะขับถ่าย
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ไม่วางสิ่งของเกะกะทางเดิน ไม่เล่นโทรศัพท์ขณะเดิน เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดก้นกบจากการได้รับบาดเจ็บ
ปวดก้นกบเป็นอาการที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ส่วนใหญ่มักไม่เป็นสัญญาณของอาการอันตราย ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น อาการปวดก้นกบไม่ดีขึ้นหลังจากใช้วิธีแก้ปวดด้วยตัวเอง มีไข้ขึ้นสูง อาการปวดลามไปยังหลังส่วนล่าง สะโพก หรือบริเวณอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม