ปวดตาข้างเดียว รู้จักสาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

ปวดตาข้างเดียว คืออาการปวดหรือระคายเคืองบริเวณตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาการปวดตาข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุอาจดีขึ้นได้เอง แต่บางสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม 

ตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้สามารถมองเห็นสิ่งรอบตัว โดยอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตา รวมถึงอาการปวดตาข้างเดียวอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ ซึ่งวิธีรักษาอาการปวดตาข้างเดียวมักขึ้นอยู่กับสาเหตุ อย่างไรก็ตาม การบรรเทาอาการปวดตาข้างเดียวเบื้องต้นมีหลายวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

Pain in One Eye

รู้จักสาเหตุที่ทำให้ปวดตาข้างเดียว

ปวดตาข้างเดียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

1. อาการบาดเจ็บบริเวณดวงตา 

เมื่อดวงตาได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ขนตา สารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าตา การล้มหรืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณดวงตา การขยี้ตาอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เล็บหรือนิ้วทิ่มตาและทำให้กระจกตาถลอก อาจนำไปสู่อาการปวดตาข้างเดียวหรือข้างที่เกิดการบาดเจ็บได้

2. การใส่คอนแทคเลนส์

การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด การใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป การใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ หรือการใส่คอนแทคเลนส์ที่มีขนาดไม่พอดีกับดวงตา อาจทำให้เกิดอาการปวดตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างได้

3. ตาแดง 

โรคตาแดงเป็นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุตาอักเสบ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดบริเวณดวงตาขยายและสังเกตเห็นเป็นอาการตาแดงได้ โดยโรคตาแดงอาจทำให้เกิดอาการปวดตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีอาการ อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการคันตา หรือน้ำตาไหลด้วย

4. ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดตาข้างเดียวได้ เมื่อเกิดการติดเชื้อบริเวณไซนัส อาจทำให้บริเวณไซนัสเกิดอาการบวม อักเสบ และมีน้ำมูกเพิ่มมากขึ้น โดยน้ำมูกที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้รู้สึกแน่นจมูก และส่งผลให้เกิดอาการปวดตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างได้

5. ตาแห้ง

ตาแห้งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีน้ำตาไม่เพียงพอต่อการให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา จึงส่งผลให้ตาแห้ง เส้นประสาทบริเวณกระจกตาเกิดการระคายเคือง และเกิดอาการปวดตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ โดยตาแห้งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตาโดนลมเป็นเวลานาน ตาอักเสบ โรคภูมิแพ้ หรือระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงวัยทอง

6. ไมกรน

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่มักเกิดบ่อยบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง โดยผู้ที่มีอาการไมเกรนอาจรู้สึกปวดตุบ ๆ บริเวณต่าง ๆ เช่น ขมับ ดวงตา ซึ่งปัจจัยบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ฮอร์โมนแปรปรวน นอกจากนี้ ผู้ที่ปวดตาข้างเดียวจากอาการไมเกรนอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ไวต่อแสงและเสียง

7. เปลือกตาอักเสบ

ปวดตาข้างเดียวอาจเกิดจากภาวะเปลือกตาอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตาเกิดการอุดตัน โดยอาจส่งผลให้เปลือกตาบวม อักเสบ ระคายเคือง คัน และรู้สึกปวดตาได้  

8. ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเป็นภาวะที่อาจทำให้รู้สึกปวดตาข้างเดียวได้ โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่ต่อมไขมันบริเวณขอบเปลือกตาเกิดการอุดตันและติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดตุ่มนูนบริเวณภายนอกหรือภายในเปลือกตาได้ ซึ่งบริเวณที่เกิดตากุ้งยิงอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดตาเมื่อสัมผัสได้

9. ต้อหิน

ต้อหินเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อความดันภายในดวงตาเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้เส้นประสาทตาเสียหาย และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ปวดตาอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน การมองเห็นแย่ลง โดยต้อหินมักเกิดขึ้นกับดวงตาทั้ง 2 ข้าง แต่ในบางรายอาจมีต้อหินเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดตาข้างเดียวได้

หากมีอาการต้อหิน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะต้อหินเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่อาการจะยิ่งรุนแรงและนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้

วิธีรับมือกับอาการปวดตาข้างเดียวอย่างเหมาะสม

ปวดตาข้างเดียวอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป โดยวิธีรับมือกับอาการปวดตาข้างเดียวเบื้องต้นมีหลายวิธี เช่น

  • กะพริบตาหลาย ๆ ครั้ง เพื่อช่วยให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาได้
  • ล้างตาด้วยน้ำเกลือ น้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างตา เพื่อชะล้างสิ่งแปลกปลอมออกจากดวงตา
  • ประคบอุ่นบริเวณดวงตา อาจช่วยบรรเทาอาการปวดตาให้ดีขึ้น รวมทั้งยังอาจช่วยลดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาที่เป็นสาเหตุของอาการปวดตาอีกด้วย
  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตาและลดอาการระคายเคืองจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ตาแห้ง โรคภูมิแพ้ หรือตาแดง
  • งดใส่คอนแทคเลนส์ขณะมีอาการปวดตาข้างเดียว และเปลี่ยนมาใส่แว่นสายตาชั่วคราวจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะตา หรือพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากดวงตาด้วยตนเอง เพราะดวงตาอาจได้รับความเสียหายเพิ่มเติมและทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นได้
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดตาข้างเดียว

หากอาการปวดตาข้างเดียวยังคงไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดตาข้างเดียว เช่น มีเลือดออก การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ตาบวม หรือไม่สามารถกลอกตาไปมาได้เหมือนปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันที

โดยการรักษาอาการปวดตาข้างเดียวจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากปวดตาข้างเดียวเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะแบบยาหยอดตาหรือแบบรับประทาน เพื่อรักษาอาการติดเชื้อ หากอาการปวดตาเกิดจากต้อหิน แพทย์อาจลดความดันภายในดวงตาด้วยการจ่ายยาหยอดตาหรือการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการต้อหินให้ดีขึ้น