ปวดหลังเรื้อรังเป็นอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยสาเหตุเกิดได้จากหลายอย่าง แต่ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาของกระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนเป็นกรณีไป
อาการปวดหลังเรื้อรังเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในคนสูงอายุและคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น กำลังตั้งครรภ์ มีภาวะอ้วน ไม่ค่อยออกกำลังกาย มักสูบบุหรี่ มีภาวะเครียด ทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังบ่อย ๆ เป็นต้น
ปวดหลังเรื้อรัง เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการปวดหลังเรื้อรังมักเป็นผลมาจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป บางส่วนเป็นผลมาจากโรคหรือภาวะผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น
กล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็นเสียหาย
ปัญหากล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็นเสียหายมักพบในคนที่มีประวัติยกของหนักผิดท่า ชอบอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน มักทำกิจกรรมที่ต้องมีการออกแรงมาก ๆ หรือบิดเอี้ยวส่วนเอวอย่างรุนแรง อย่างกีฬายกน้ำหนัก กีฬาเทนนิส หรือกอล์ฟ
คนที่มีปัญหากล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็นเสียหายจะมีอาการปวดบริเวณกลางหลังหรือเอว โดยจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อขยับตัว มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเป็นตะคริว เดินหรือยืนตัวตรงลำบาก บางคนอาจพบว่าอาการปวดกระจายไปถึงบริเวณสะโพกและต้นขาด้วย
ภาวะกระดูกทับเส้น (Herniated Disk)
กระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกที่ช่วยป้องกันการเสียดสีกันระหว่างเคลื่อนไหว และหมอนรองกระดูกยังแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นในมีลักษณะเหลวและนิ่ม ช่วยรองรับแรงกดต่าง ๆ และชั้นนอกมีลักษณะเหนียว คอยช่วยหุ้มชั้นในเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มโอกาสให้หมอนรองกระดูกส่วนนอกเกิดการฉีกขาดจนหมอนรองกระดูกส่วนในเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 30–50 ปี ยกของหนักเป็นประจำ บิดเอี้ยวตัวบ่อย ๆ หรือบิดอย่างรุนแรง อยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน หรือได้รับแรงกระแทกในบริเวณนั้น เป็นต้น
อาการที่พบได้บ่อยของคนที่มีภาวะกระดูกทับเส้นคือ อาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณเอว และอาการปวดอาจร้าวลงไปถึงสะโพก ต้นขา น่อง และฝ่าเท้าร่วมด้วย ในบางกรณีอาจปวดตั้งแต่สะโพกลงไปเพียงอย่างเดียว โดยอาการมักเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย และจะรุนแรงขึ้นขณะที่ไอหรือจาม
โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis)
โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบจะส่งผลให้ภายในโพรงกระดูกสันหลังแคบลง ทำให้ไขสันหลังและเส้นประสาทที่อยู่ข้างในได้รับแรงกดทับ ผู้ป่วยมักพบอาการปวดหลังและร้าวลงขา โดยอาจเกิดกับขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างพร้อมกัน
นอกจากสาเหตุในข้างต้น อาการปวดหลังเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากโรคอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กลุ่มอาการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ภาวะกระดูกสันหลังคด ภาวะหลังค่อม (Kyphosis) และการเกิดอุบัติเหตุบริเวณกระดูกสันหลัง
ปวดหลังเรื้อรัง ดูแลตัวเองอย่างไร
เพื่อบรรเทาปวดหลังเรื้อรังในเบื้องต้น อาจลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อหลัง แต่หากต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหลังเป็นเวลานาน ควรแบ่งเวลาให้ร่างกายได้พักบ่อย ๆ นอกจากนี้ ควรสังเกตดูว่าอาการปวดหลังมักพบหลังจากการทำกิจกรรมใด เพื่อช่วยให้หลีกเลี่ยงไม่ทำกิจกรรมนั้นได้
- ควบคุมน้ำหนัก โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจส่งผลให้หลังได้รับน้ำหนักมากขึ้น
- ควบคุมอาหาร โดยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารที่ผ่านการแปรรูป เพราะอาหารเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่อาจส่งผลให้อาการปวดหลังมีความรุนแรงขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกเสื่อม ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดหลังส่วนล่างตามมา
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ และการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุนั้น ๆ หากพบว่ามีอาการปวดหลังนานเกิน 3 เดือน โดยเฉพาะอาการปวดบริเวณกลางหลังและเอวที่กระจายไปยังสะโพกหรือขา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม