ความฝันเป็นเรื่องราวลึกลับที่เกิดขึ้นในสมองของมนุษย์ขณะนอนหลับ เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์ในความฝัน ผู้ที่ฝันอาจไม่เคยพบหรือประสบกับสิ่งเหล่านั้นมาก่อนในชีวิตจริง และในบางครั้งความฝันที่เกิดขึ้นอาจดูแปลกตาและไกลจากความจริงอย่างสิ้นเชิง ความฝันมักส่งผลต่อความรู้สึกเมื่อตื่นขึ้น ทั้งฝันดีและฝันร้าย ความฝันจึงอาจเป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความฝันนั้นเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เป็นภาวะที่สมองฉายภาพของสิ่งต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่มีอยู่จริงและสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ เรื่องราวในความฝันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไม่แน่นอน ไม่ต่อเนื่อง คาดเดาไม่ได้ และไม่มีเหตุผล ในปัจจุบันนักวิจัยยังไม่สามารถระบุข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับความฝันได้ทั้งหมด แต่ก็มีทฤษฎีและความเชื่อเกี่ยวกับความฝันอยู่ไม่น้อย
ทำไมเราถึงฝันและความฝันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ผู้เชี่ยวชาญได้ถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าความฝันเกิดขึ้นได้อย่างไร จนออกมาเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย ซึ่งในแต่ละทฤษฎีก็จะมีความแตกต่างกันไป เช่น ความฝันนั้นเป็นกระบวนการจัดการความจำของสมอง ความฝันเป็นผลกระทบจากความคิด ความเครียด อารมณ์ หรือสิ่งที่เคยพบเห็น ความฝันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและกระแสไฟฟ้าภายในสมอง รวมถึงความฝันยังอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยของร่างกายได้อีกด้วย เป็นต้น
ความฝันสามารถเกิดขึ้นขณะใดก็ได้ในระหว่างนอนหลับ แต่มักเกิดขึ้นในช่วง REM หรือช่วงมีการเคลื่อนไหวดวงตาอย่างรวดเร็วขณะนอนหลับซึ่งเป็นช่วงที่สมองจะมีการตื่นตัวมากที่สุด ในอีกด้านหนึ่ง ความฝันมักถูกผูกโยงเข้ากับสิ่งเหนือธรรมชาติ อย่างวิญญาณ การเห็นอนาคต โชคลาภ และลางร้าย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่ว่าความฝันเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้นยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด
ประเภทของความฝัน
ความฝันนั้นมีหลากหลายประเภท ตัวอย่างของความฝันที่พบได้ อาจแบ่งได้ ดังนี้
- ฝันแบบรู้ตัว (Lucid dream)
ความฝันแบบรู้ตัวเป็นความฝันที่ผู้ฝันทราบว่าตนเองกำลังอยู่ในความฝัน บางคนสามารถควบคุมเรื่องราวในความฝันได้ ความฝันแบบรู้ตัวอาจเกิดจากการทำงานที่เพิ่มขึ้นของสมองส่วนจิตสำนึก ความรู้สึก ความจำ และภาษา ซึ่งโดยปกติสมองส่วนนี้จะทำงานน้อยลงหรือหยุดทำงานชั่วคราวในขณะหลับ ฝันแบบรู้ตัวเป็นภาวะของสมองระหว่างช่วง REM หรือช่วงมีการเคลื่อนไหวดวงตาอย่างรวดเร็วขณะนอนหลับ และในช่วงที่ใกล้ตื่นนอน โดยในช่วงนี้สมองจะมีการตื่นตัวมากที่สุด
- ฝันซ้ำ (Recurrent dream)
ฝันซ้ำมักมีรูปแบบความฝันที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดหรือล้มเหลว อย่างการถูกทำร้าย ถูกไล่ล่า ถูกขัง ล้ม สอบตก หรือพลาดงานสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าฝันซ้ำอาจสะท้อนถึงปัญหาในชีวิตจริงที่ยังหาทางออกไม่ได้ ซึ่งอาจหายไปเองเมื่อปัญหานั้นคลี่คลายหรือผู้ฝันมีแนวทางที่จะรับมือกับปัญหานั้น อีกรูปแบบหนึ่งของฝันซ้ำ คือในความฝันผู้ฝันอาจพูดไม่ได้ซึ่งอาจสะท้อนถึงความเขินอายและไม่กล้าแสดงออก
- ฝันร้าย
ฝันร้ายเป็นการนิยามลักษณะของความฝันที่น่าหวาดกลัวหรือสร้างความรู้ในด้านลบกับผู้ที่ฝัน ฝันร้ายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและฝันร้ายอาจสะท้อนหรือบ่งบอกถึงสิ่งที่น่ากังวลได้หลายอย่างในชีวิตจริง เช่น ความเครียด ประสบการณ์เลวร้ายที่ฝังใจ ความรู้สึกด้านลบ ปัญหาด้านสุขภาพ อย่างโรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ โรคไมเกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น โดยในขณะที่ฝันร้ายผู้ฝันอาจตะโกนหรือกรีดร้องออกมาในขณะหลับและอาจทำให้ตื่นขึ้นได้
ทำความเข้าใจกับความฝัน
หลายคนอาจเคยพยายามที่จะจดจำความฝันและสงสัยว่าความฝันเหล่านั้นมีความหมายแฝงอะไรหรือไม่ แต่ความทรงจำเกี่ยวกับความฝันมักเป็นเรื่องราวที่ไม่ชัดเจนและถูกลืมได้ง่าย จนคิดว่าหลับไม่ฝัน สาเหตุที่คนจำความฝันได้อาจเกิดจากการที่ร่างกายตื่นในระหว่างที่ฝันจึงสามารถจดจำความฝันที่เพิ่งฝันไปได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในแต่ละคืนมนุษย์เราเข้าสู่ภาวะฝันประมาณ 6-8 ครั้งต่อคืน แต่ไม่สามารถจดจำความฝันเหล่านั้นได้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้ลืมเหตุการณ์ที่ตนเองฝัน เพียงแต่ถูกเก็บไว้ในความทรงจำส่วนลึกและไม่สามารถระลึกถึงได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงก็อาจทำให้จำความฝันนั้นได้
โดยเคล็ดลับที่อาจช่วยให้จดจำความฝันได้แม่นยำขึ้น ดังนี้
- เตือนและย้ำตนเองให้จดจำความฝันในช่วงใกล้หลับ
- เลี่ยงการใช้นาฬิกาปลุกเพราะอาจทำให้ตกใจขณะตื่น แล้วความจำเกี่ยวกับความฝันอาจหายไปได้
- พยายามทบทวนความฝันในทันทีที่ตื่นนอน และจดบันทึก พราะเป็นสิ่งที่หายไปจากความคิดได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ความฝันนั้นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสมองหรือความคิดเท่านั้น อาจมีเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกสนุก มีความสุข หรือความทุกข์ก็ได้ แต่ล้วนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลกับความฝันมากเกินไป แต่การเกิดฝันร้ายบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางอารมณ์หรือสุขภาพ จึงควรหมั่นสังเกตสิ่งที่กระทบต่ออารมณ์และร่างกาย ซึ่งหากรู้สึกกังวลอาจไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง