ฝันร้าย คือ ภาวะจากการนอนหลับฝันที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล ระทึก หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง มักเกิดขึ้นเมื่อใกล้ตื่น ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เกิดความเครียดมักฝันร้าย ทั้งนี้ หากฝันร้ายเป็นประจำและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้
โดยทั่วไปแล้ว เด็กอายุก่อน 10 ปีมักเริ่มฝันร้าย โดยเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มฝันร้ายมากกว่าเด็กผู้ชาย อย่างไรก็ตาม การฝันร้ายไม่นับว่าเป็นอันตรายในกรณีที่ไม่ได้ส่งผลต่อการนอนหลับหรือพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ ส่วนผู้ใหญ่อาจเกิดฝันร้ายได้ในกรณีที่เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือหวาดกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างมาก รวมทั้งอาจเป็นหนึ่งในการอาการของปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ฝันร้ายอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ ลักษณะฝันร้ายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอาการป่วยนั้นมีลักษณะ ดังนี้
- จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฝันได้อย่างชัดเจน มักฝันถึงซ้ำ รวมทั้งมักฝันถึงเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมาก โดยฝันนั้นมักเกี่ยวกับการเอาตัวรอด ความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชีวิต และมักเกิดขึ้นตอนงีบหลับสั้น ๆ
- รู้สึกตื่นตัวและมักตื่นขึ้นมาอยู่เสมอ
- รู้สึกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำกิจกรรม หรือสังสรรค์เข้าสังคม
- ฝันร้ายบ่อยทั้งที่ไม่ได้ใช้ยารักษาโรคหรือสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้
ฝันร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร
ฝันร้ายมักเกิดขึ้นในช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement: REM) โดยทั่วไปแล้ว ช่วงหลับฝันจะเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการส่งสัญญาณจากส่วนก้านสมองไปยังสมองส่วนธาลามัส เพื่อถ่ายทอดสัญญาณดังกล่าวไปยังชั้นสมองส่วนนอกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ กระบวนการคิด และการจัดการข้อมูล ขณะที่เซลล์สมองส่งสัญญาณนั้น ร่างกายจะหยุดการทำงานของเซลล์ประสาทตรงไขสันหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้อแขนขาขยับไม่ได้ชั่วขณะ หากบางสิ่งเข้ามากระทบกระบวนการนี้ ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ออกมานอกฝัน เช่น ผู้ที่ฝันว่าเล่นกีฬาอยู่อาจวิ่งไปที่เก้าอี้หรือตีคนที่นอนอยู่ข้าง ๆ หากในฝันกำลังแข่งขันกับคู่ต่อสู้ อย่างไรก็ดี อาการตอบโต้มักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ผู้ที่ฝันร้ายมักเกิดภาวะดังกล่าวตอนใกล้เช้า เนื่องจากช่วงหลับฝันกินระยะเวลาของการนอนหลับยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้ตื่น ทั้งนี้ ช่วงหลับฝันเป็นระยะนอนหลับที่สมองตื่นตัวและประมวลความจำหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ส่งผลให้สิ่งที่สมองประมวลออกมานั้นปรากฏภาพเหมือนจริงและส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเมื่อนอนหลับฝัน แต่ละคนจะฝันแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมีรูปแบบฝันร้ายที่เจอได้บ่อยเหมือนกัน เช่น ฝันว่าวิ่งหนีจากสิ่งที่เป็นอันตรายหรือตกจากที่สูง ส่วนผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น ประสบอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย ก็อาจฝันถึงเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำอยู่บ่อย ๆ
ทำไมถึงฝันร้าย
ฝันร้ายจัดเป็นภาวะของการนอนหลับที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีปัจจัยที่ทำให้หลับฝันร้ายหลายประการ ดังนี้
- รับประทานอาหารก่อนเข้านอน ผู้ที่รับประทานอาหารหรือขนมก่อนเข้านอนอาจหลับฝันร้ายได้ เนื่องจากการรับประทานอาหารก่อนนอนส่งผลให้การทำงานของระบบเมตาบอลิซึมเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งสัญญาณให้สมองตื่นตัวมากกว่าเดิม
- เจ็บป่วย ผู้ที่ล้มป่วยและมีไข้ร่วมด้วยอาจฝันร้ายได้
- ถอนยาหรือสารเสพติด การถอนยารักษาโรคบางอย่าง เลิกเหล้า หรือสารที่มีฤทธิ์ระงับประสาท อาจเกี่ยวเนื่องกับฝันร้าย หากผู้ที่กำลังถอนยาหรือสารเสพติดบางอย่างเกิดฝันร้ายบ่อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ยารักษาโรคบางอย่างส่งผลให้เกิดฝันร้าย เนื่องจากส่วนประกอบของตัวยามีปฏิกิริยากับสารเคมีในสมอง เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการปวดที่มีฤทธิ์เสพติด หรือยาลดความดันโลหิต
- นอนน้อย การนอนหลับไม่เพียงพอก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝันร้ายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการนอนน้อยจะทำให้เกิดการฝันร้ายจนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ
- ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป นับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะฝันร้าย
- ประสบปัญหาสุขภาพจิต ความเครียดหรือความวิตกกังวลนับเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝันร้ายได้สูง คิดเป็นร้อยละ 60 นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่างทำให้ฝันร้ายได้ เช่น โรคซึมเศร้า ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ก็มักฝันร้ายถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยจะฝันร้ายซ้ำ ๆ และเป็นอาการป่วยเรื้อรัง
- ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการนอน หากภาวะฝันร้ายได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นตามที่กล่าวมา อาการฝันร้ายเรื้อรังอาจเป็นผลจากโรคที่เกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ทั้งนี้ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องประสบภาวะฝันร้ายอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการฝันร้ายเรื้อรังได้
ฝันร้ายส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
ฝันร้ายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตอนนอนหลับ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตได้หลายประการ ผู้ที่ฝันร้ายเรื้อรังอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า และภาวะอ้วน ส่วนผู้ที่ประสบภาวะวิตกกังวลหรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะรู้สึกทุกข์ทรมานจากการต้องประสบสิ่งที่เกิดขึ้นในฝันมากกว่าที่ได้รับจากอาการป่วยของปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ผู้ที่ฝันร้ายอันเป็นผลจากการไม่ได้รับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือป่วยเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ จนได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งหลายคนยังเชื่อว่าภาวะฝันร้ายอาจเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานที่พิสูจน์ว่าฝันร้ายนำไปสู่ภาวะฆ่าตัวตายได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาในกรณีที่ฝันร้ายเป็นประจำ เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิต
ทำอย่างไรเมื่อเกิดฝันร้าย
ฝันร้ายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ป้องกันและจัดการได้ตามวิธีต่อไปนี้
-
วิธีป้องกันภาวะฝันร้าย
- สร้างสุขลักษณะการนอน การสร้างสุขลักษณะที่ดีในการนอนหลับจะช่วยให้ไม่หลับฝันร้าย ควรเริ่มเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรงีบหลับระหว่างวันในกรณีที่ไม่ได้ป่วยหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานอาหารหรือออกกำลังกายตอนช่วงใกล้เข้านอน และเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาน่ากลัว
- ออกกำลังกาย ผู้ที่ฝันร้ายจากอาการวิตกกังวลหรือความเครียดควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาภาวะฝันร้าย โดยอาจเลือกเล่นโยคะหรือทำสมาธิ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบขึ้น
- จัดสภาพแวดล้อมที่ดี ควรจัดห้องนอนให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน
- เลี่ยงสารกระตุ้น ควรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนในปริมาณจำกัด เนื่องจากสารกระตุ้นทั้งสองอย่างอาจตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่า 12 ชั่วโมง ส่งผลให้รบกวนการนอนได้
-
วิธีจัดการภาวะฝันร้าย
- เปลี่ยนปริมาณหรือตัวยารักษาโรค ยารักษาโรคบางอย่างอาจทำให้ฝันร้าย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอปรับปริมาณยาหรือเปลี่ยนตัวยาสำหรับรักษาปัญหาสุขภาพตนเอง
- เข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพ โรคเกี่ยวกับการนอนหลับบางโรคส่งผลให้เกิดฝันร้ายได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ผู้ป่วยโรคนี้ควรเข้ารับการรักษาอาการป่วยให้หาย เพื่อแก้ไขปัญหาฝันร้ายอันเป็นผลมาจากโรคเหล่านี้
- บำบัดด้วยจินตนาการ วิธีบำบัดด้วยจินตนาการ (Imagery Rehearsal Treatment) คือวิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรมสำหรับผู้ที่ฝันร้ายซ้ำ ๆ หรือฝันร้ายจากการภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ โดยช่วยให้ผู้ป่วยฝึกเปลี่ยนความคิดที่มีต่อภาพความฝันที่ปรากฏขึ้นมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญอาจได้รับการบำบัดร่วมกับยารักษาอาการป่วย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่ปรากฏประสิทธิภาพชัดเจนเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการบำบัดเพียงอย่างเดียว
รับมือฝันร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กอย่างไร
พ่อแม่อาจช่วยให้เด็กไม่ฝันร้ายได้ โดยปฏิบัติตามวิธีที่ช่วยให้เด็กหลับฝันดี รวมทั้งปลอบโยนเมื่อเด็กตื่นจากฝันร้าย ดังนี้
-
วิธีช่วยให้เด็กหลับฝันดี
- ฝึกนอนเป็นเวลา พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาเป็นประจำ
- ช่วยให้เด็กรู้สึกอุ่นใจ พ่อแม่ควรทำให้เด็กรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยก่อนจะเข้านอนทุกครั้ง โดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น อาบน้ำให้เด็กเล็ก อ่านนิทานให้ฟัง หรือพูดคุยและกอดลูกก่อนเข้านอน
- จัดเตียงนอน เลือกเตียงนอนที่นอนสบายรวมทั้งจัดห้องนอนให้โปร่งสบายและปลอดเสียงดังรบกวน
- เลี่ยงดูหนังน่ากลัว ไม่ควรให้เด็กดูภาพยนตร์ หรือรับฟังเรื่องราวน่ากลัวที่อาจเก็บไปฝันได้
- สอนเด็กให้เข้าใจ หมั่นบอกให้เด็กเข้าใจว่าฝันร้ายไม่ใช่ความจริง เกิดขึ้นแค่ในฝันเท่านั้นและทำอันตรายเด็กไม่ได้
- เลือกสิ่งของหรือผ้าห่มที่ชอบ ควรเลือกของเล่นหรือผ้าห่มที่เด็กชอบให้เด็กนำไปนอนกอดด้วย
-
วิธีปลอบเด็กเมื่อฝันร้าย
- อยู่ใกล้เด็ก หากเด็กตกใจกลัวจากฝันร้าย พ่อแม่ควรเข้าไปหาและอยู่ใกล้ ๆ เพื่อช่วยให้เด็กคลายกังวลและปลอดภัย
- พูดให้เด็กเข้าใจ พ่อแม่ควรบอกเด็กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝันร้าย ไม่ใช่เรื่องจริง ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขายังปลอดภัยดีเมื่อตื่นขึ้น
- ปลอบโยนเด็ก พ่อแม่ควรแสดงความเข้าใจความรู้สึกกลัวของเด็ก และปลอบเด็กว่าฝันร้ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจทำให้รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลได้ ถือเป็นเรื่องปกติไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง
- กล่อมให้เด็กหลับต่อไป พ่อแม่ควรช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย โดยหาของเล่น ผ้าห่ม หรือหมอนข้าง เอาไว้ให้เด็กกอด เปิดเพลงให้ฟังเบา ๆ เปิดไฟที่มีแสงอ่อน ๆ หรือจับมือและกอดปลอบเด็ก
- เป็นผู้ฟังที่ดี พ่อแม่ควรรับฟังเมื่อเด็กบอกเล่าเกี่ยวกับฝันร้ายที่เกิดขึ้น อาจเปลี่ยนจากการให้เด็กพูดคุยธรรมดาเป็นการเล่าเรื่องผ่านการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นไม่ดูน่ากลัว เช่น วาดรูปหรือเขียนอธิบายฝันร้ายที่เด็กฝันเห็นแทน
- เปิดไฟอ่อน ๆ พ่อแม่อาจเปิดโคมไฟหัวเตียงที่มีแสงอ่อน ๆ ทิ้งไว้ เพื่อช่วยให้เด็กไม่รู้สึกกลัว เนื่องจากเด็กจะเบาใจเมื่อมองเห็นสิ่งของที่คุ้นตาหรือรู้ว่าพ่อแม่ของตนอยู่ที่ไหน
- เปิดประตูทิ้งไว้ หากพ่อแม่แยกห้องนอนกับเด็ก อาจเปิดประตูห้องนอนของเด็กทิ้งไว้ เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ