เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ หลายคนอาจนึกถึงการประดิษฐ์คิดค้นหรือการสร้างผลงานทางศิลปะ แต่ความจริงแล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่เราทุกคนมีอยู่ในตัว และแสดงออกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การคิดสูตรอาหารใหม่ การเสนอกิจกรรมครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการนำเสนอแนวคิดใหม่ในการประชุม
ความคิดสร้างสรรค์อาจเกิดจากการสะสมและบ่มเพาะจากนิสัยส่วนตัว อิทธิพลของคนรอบข้าง และสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา จึงทำให้แต่ละคนมีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่มากหรือน้อยแตกต่างกัน บทความนี้ได้รวบรวมเทคนิคการฝึกความคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเองมาฝากกัน
กลไกของสมองต่อความคิดสร้างสรรค์
ผลการศึกษาระบุว่าสมองประกอบด้วยเครือข่ายขนาดใหญ่ 3 ส่วนที่ทำงานร่วมกันและทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่
Default Mode Network (DMN)
Default Mode Network เป็นเครือข่ายของสมองที่ทำงานอัตโนมัติเมื่อเราผ่อนคลาย โดยไม่ครุ่นคิดหรือจดจ่อกับสิ่งรอบตัว
Central Executive Network (CEN)
Central Executive Network เป็นเครือข่ายของสมองที่ทำงานเมื่อเราต้องการทำบางสิ่งให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราต้องทำตามกฎเกณฑ์และผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ จึงควบคุมการทำงานของอารมณ์และทำให้เราจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจ
Salience Network (SN)
Salience Network เป็นเครือข่ายของสมองที่ประเมินข้อมูลหรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นข้อมูลที่ต้องใช้สมาธิและตั้งใจทำ (CEN) และข้อมูลที่ไม่ต้องใช้สมาธิหรือไม่มีเป้าหมาย (DMN)
นักวิจัยสันนิษฐานว่าเครือข่ายทั้งสามทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความสามารถในการประเมินวิธีการและการจัดการกับผลลัพธ์ต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยทบทวนการตัดสินใจในอดีตและจินตนาการถึงอนาคตเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีที่ทำให้ตนเองสามารถบรรลุเป้าหมายตามต้องการได้ การทำงานของเครือข่ายในสมองจึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
เทคนิคพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด การปรับเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดโดยอาศัยความรู้และทักษะที่ตัวเองมี จะช่วยให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจเริ่มจากเทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้
- ฝึกความคิดสร้างสรรค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่กดดันตัวเองจนเกิดความเครียด การเริ่มต้นคิดและลงมือทำจากสิ่งเล็ก ๆ อาจนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ใหญ่ขึ้นได้
- เริ่มต้นวันใหม่ด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อย่างการฟังเพลงเดิมทุกเช้า ดื่มกาแฟ หรือทำสมาธิประมาณ 10 นาที จะช่วยกระตุ้นให้สมองเริ่มทำงานและเตือนให้สมองรู้ว่าเราพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันอย่างสร้างสรรค์
- กล้าคิดนอกกรอบและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีที่แปลกใหม่ เช่น เปลี่ยนเส้นทางการกลับบ้าน หรือพลิกแพลงสูตรการทำอาหาร เพื่อฝึกสมองในการคิดและตัดสินใจเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ
- ยอมรับข้อผิดพลาด และไม่ยึดติดกับการโทษตัวเอง กระตุ้นตัวเองให้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น และคิดหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับข้อผิดพลาดนั้นให้ดียิ่งขึ้น
- ค้นหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติมจากการออกไปท่องเที่ยว ชมงานศิลปะ หรือไปห้องสมุดอาจช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในชีวิต
- ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ในสวนหลังบ้าน หรือออกไปพักผ่อนที่สวนสาธารณะจะช่วยให้สมองได้ผ่อนคลายความเครียดและมีพลังในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
- ออกไปพบปะผู้คน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น เพื่อนำแนวคิดต่าง ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง
- จดบันทึกแนวคิดใหม่ ๆ ลงในสมุดหรือบันทึกเสียงไว้ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องราวดี ๆ ขึ้นมาได้ เพื่อป้องกันการลืมและสามารถนำแนวคิดต่าง ๆ ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต
- ผ่อนคลายความเครียดและความกังวล อย่างการฟังเพลงสบาย ๆ เพื่อให้สมองรู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ และพัฒนากระบวนการคิดและการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้ผ่านการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเชื่อมั่นในความสามารถและความคิดของตัวเองโดยไม่คิดกังวลหรือตัดสินตัวเองล่วงหน้า จะช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือคิดโทษตัวเอง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับวิธีการคิดและรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสมต่อไป