ฟังเพลงก่อนนอนเป็นกิจกรรมที่หลายคนชื่นชอบ เนื่องจากช่วยสร้างความผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท พร้อมตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และสดชื่น แต่หลายคนอาจสงสัยว่าการฟังเพลงก่อนนอนช่วยให้นอนหลับได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
การฟังเพลงไม่เพียงแต่ช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว จากผลการศึกษาหลายชิ้นยังระบุว่าการฟังเพลงช่วยพัฒนาความจำให้ดีขึ้น ปรับอารมณ์ที่ขุ่นมัวให้สดใส ช่วยให้ออกกำลังกายได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดอาการวิตกกังวลและอาการของโรคซึมเศร้าได้
ฟังเพลงก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับได้อย่างไร
การฟังเพลงก่อนนอนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว การหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) และออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การฟังเพลงยังเป็นหนึ่งในวิธีบำบัดและรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า ภาวะเครียด โดยช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น อีกทั้งมีผลการศึกษาพบว่าการฟังเพลงก่อนนอนจะช่วยให้เด็กและผู้สูงอายุนอนหลับได้ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การฟังเพลงก่อนนอนอาจให้ผลตรงข้ามกับคนบางกลุ่ม ซึ่งผลการวิจัยบางชิ้นระบุว่าการฟังเพลงบางประเภทก่อนนอนอาจทำให้เกิดอาการเพลงติดหู (Earworm) ทำให้เพลงนั้นวนอยู่ในหัวซ้ำ ๆ จนส่งผลให้นอนไม่หลับได้ นักวิจัยจึงแนะนำให้ฟังเพลงก่อนนอนเป็นบางคืนและทำกิจกรรมอื่นที่ทำให้จิตใจสงบแทน เช่น การจดบันทึกความคิดในแต่ละวันและเขียนสิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป
ฟังเพลงก่อนนอนอย่างไรให้หลับสบาย
แม้จะไม่มีผลการวิจัยที่ระบุแนวเพลงที่เหมาะสมในการฟังก่อนนอนอย่างชัดเจน แต่จากการศึกษาพบว่าเพลงที่เหมาะกับการฟังก่อนนอนมากที่สุดคือ เพลงที่มีความเร็ว (Tempo) ระหว่าง 60–80 บีทต่อนาที (BPM) ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการเต้นหัวใจขณะพักของคนเราที่มีอัตราการเต้นระหว่าง 60–100 ครั้งต่อนาที
โดยทั่วไป เพลงที่เหมาะสำหรับฟังก่อนนอนมักเป็นเพลงบรรเลงช้า ๆ ที่ฟังสบายและเพลงคลาสสิค ซึ่งอาจช่วยสร้างความผ่อนคลาย ปรับให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงและนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่บางคนอาจนอนหลับได้ดีขึ้นเมื่อฟังเพลงที่มีจังหวะเร็ว การเลือกฟังเพลงจึงอาจแตกต่างกันตามความชอบของแต่ละคน แต่ควรหลีกเลี่ยงการฟังเพลงที่กระตุ้นอารมณ์รุนแรง ซึ่งอาจทำให้นอนไม่หลับได้
ทั้งนี้ ไม่ควรนอนหลับไปพร้อมกับหูฟัง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อรูหู ทำให้ขี้หูเพิ่มขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหู นอกจากนี้ การใส่หูฟังฟังเพลงเสียงดังมาก ๆ เป็นเวลานานอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมและเกิดปัญหาด้านการได้ยินตามมา จึงควรเปิดเพลงเบา ๆ ผ่านลำโพงในห้องนอนหรือเมื่อเริ่มง่วงนอนควรถอดหูฟังออกก่อน ซึ่งอาจช่วยให้คุณนอนหลับได้โดยไม่ทำลายสุขภาพหู
การฟังเพลงก่อนนอนอาจช่วยให้คุณผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ควรสร้างกิจวัตรที่ดีก่อนนอนควบคู่ไปด้วย เช่น เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันเป็นเวลานาน จัดห้องนอนให้เหมาะกับการนอนหลับ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น หากมีปัญหาในการนอนหลับควรปรึกษาแพทย์และรับการตรวจต่อไป