มุมปากเป็นแผลหรือปากนกกระจอก เป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นมุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ทำให้รู้สึกแสบ มีอาการตึง และเจ็บเล็กน้อยบริเวณมุมปาก โดยเฉพาะเมื่ออ้าหรือขยับปาก บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากกว่านั้น
มุมปากเป็นแผลอาจทำให้หลายคนสับสนกับโรคเริมที่ปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัส เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มุมปากเป็นแผลนั้นไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ และอาการมักจะหายเองได้หากไม่มีอาการรุนแรง
มุมปากเป็นแผลเกิดจากอะไร
มุมปากเป็นแผลเป็นผลมาจากการสะสมของน้ำลายบริเวณมุมปาก น้ำลายที่แห้งแล้วจะทำให้ผิวบริเวณนั้นแห้งแตกกลายเป็นแผล และอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อต่อได้ เพราะเมื่อเราเลียมุมปากที่แห้งอาจสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) และเชื้อแบคทีเรียสสแตปฟิโลคอคคัสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus)
นอกจากนี้ ยังปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้ผิวบริเวณมุมปากเป็นแผลได้ เช่น ฟันปลอมแน่นหรือหลวมไป ฟันผิดรูป ใส่เหล็กจัดฟัน น้ำลายไหลขณะนอนหลับ ติดเชื้อราในช่องปาก มีริ้วรอยบริเวณมุมปากที่เกิดจากวัยหรือการน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว สูบบุหรี่ ขาดวิตามินบี ธาตุเหล็ก และโปรตีน เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
รวมไปถึงมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างโรคเอดส์ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) โรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคมะเร็งระบบเลือด
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมุมปากเป็นแผล
มุมปากเป็นแผลเป็นอาการไม่ร้ายแรง มักจะหายได้เองภายในไม่กี่วันหากอาการไม่รุนแรง ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการไม่ให้อักเสบมากกว่าเดิมได้ดังนี้
- พยายามไม่เลียริมฝีปาก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณแผล
- ประคบน้ำแข็งหรือน้ำเย็นที่มุมปาก
- ใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากสูตรอ่อนโยนที่ไม่ทำให้แสบปาก
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดเพื่อลดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการเจอแสงแดด สถานที่หนาวจัด หรือสถานที่ที่มีลมแรง
- บำรุงริมฝีปากให้ชุ่มชื่นอย่างสม่ำเสมอด้วยขี้ผึ้ง ลิปบาล์ม น้ำมันมะพร้าว หรือปิโตรเลียมเจลลี่ เพื่อให้มุมปากชุ่มชื่น ไม่แห้งแตก
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ
อย่างไรก็ตาม หากบริเวณมุมปากเป็นแผลไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของแต่ละคน เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาแผลที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาต้านเชื้อราในคนที่เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อรา ปรับขนาดฟันปลอมหรือจัดฟันให้เข้ารูป เพิ่มการกินอาหารประเภทโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามินบีในคนที่มีปัญหาขาดสารอาหาร หรือฉีดฟิฟิลเลอร์ลเลอร์ลดรอยพับหรือร่องที่บริเวณมุมปาก