ยาคลายเครียด ข้อมูลและความเสี่ยงที่ควรรู้ก่อนใช้

ยาคลายเครียดเป็นยาที่ช่วยบรรเทาความเครียดและความรู้สึกวิตกกังวล โดยเข้าไปยับยั้งสารเคมีและการทำงานบางส่วนของสมองที่ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกดังกล่าว นอกจากจะช่วยคลายเครียดแล้ว ยาคลายเครียดยังมีฤทธิ์ให้เกิดอาการง่วงซึมและนอนหลับได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยายังมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทด้วย จึงมีข้อมูลบางอย่างที่ควรรู้ก่อนใช้ยาคลายเครียด

ข้อเท็จจริงอย่างแรกเกี่ยวกับยาคลายเครียดที่หลายคนควรรู้ คือ ยาคลายเครียดเป็นภาษาพูด ยาคลายเครียดของแต่ละคนจึงอาจหมายถึงยาคนละชนิดกัน ตั้งแต่ยานอนหลับ ยาคลายกังวล ยาต้านเศร้า และยาอื่นที่ออกฤทธิ์บรรเทาความเครียด ซึ่งยาประเภทนี้จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และใช้ตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น เพราะผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายและอาจทำให้เสพติดได้หากใช้ผิดวิธี

ยาคลายเครียด ข้อมูลและความเสี่ยงที่ควรรู้ก่อนใช้

ด้วยเหตุนี้ ก่อนการใช้ยาคลายเครียดทุกชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ ซึ่งบทความนี้มีข้อมูลบางส่วนและความเสี่ยงที่ควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาคลายเครียดมาให้ได้อ่านกัน

รู้จักยาคลายเครียดแต่ละประเภทให้มากขึ้น

ยาคลายเครียดอาจสื่อถึงยาได้หลายชนิดอย่างที่ได้กล่าวไป ซึ่งยาแต่ละชนิดมีกลไกการออกฤทธิ์ จุดประสงค์การใช้ และผลข้างเคียงแตกต่างกัน โดยกลุ่มยาที่หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นยาคลายเครียดมีดังนี้

1. ยานอนหลับ

คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่ายานอนหลับคือ ยาคลายเครียด เพราะความเครียดและความวิตกกังวลเป็นปัญหาต่อการนอนหลับอย่างมาก หากใครมีปัญหาความเครียดที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เมื่อไปพบแพทย์ก็อาจได้รับยานอนหลับ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้สมองและร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียด จึงทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

ยาคลายเครียดหรือยานอนหลับที่แพทย์มักจ่ายให้ผู้ปัญหาด้านการนอนหลับจากความเครียดมักจะเป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ที่จัดเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะวิตกกังวล อาการชัก และโรคนอนไม่หลับ

ตัวอย่างยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน ได้แก่ ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ที่ใช้บรรเทาความเครียดและโรคนอนไม่หลับระยะสั้น ๆ บางกรณีแพทย์อาจสั่งจ่ายยาตัวอื่นที่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) และยาไตรอาโซแลม (Triazolam)

ผู้ที่ใช้ยาคลายเครียดในกลุ่มนี้อาจพบผลข้างเคียง เช่น ขี้ลืม สับสน ท้องผูก คลื่นไส้ เวียนหัว ปัญหาการทรงตัว หายใจช้า ตาพร่า และเห็นภาพซ้อน เป็นต้น อาการเหล่านี้มักไม่รุนแรง แต่อาจเป็นอันตรายเมื่อขับขี่ยานพาหนะหรือเมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง เมื่อใช้ยาเกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันเกิน 2‒4 สัปดาห์ อาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากขึ้น

2. ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกหรือ TCAs (Tricyclic Antidepressants) 

ยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ อย่างโรคซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และอื่น ๆ เพื่อช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ยับยั้งอาการซึมเศร้า ผ่อนคลายความเครียด และอารมณ์ด้านลบ โดยยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เป็นยาในกลุ่มไตรไซคลิกที่แพทย์มักสั่งจ่ายเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าในระยะแรกเริ่ม

ยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ตาพร่า ท้องผูก ปากแห้ง ปัสสาวะไม่ออก และความดันเลือดลดลงฉับพลันขณะลุกยืน นอกจากนี้ การใช้ยาต้านเศร้าในคนอายุต่ำกว่า 25 ปี มักมีความเสี่ยงทำให้ผู้ใช้เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายสูงขึ้น โดยเฉพาะสัปดาห์แรกของการใช้ยา 

ยาคลายเครียดในกลุ่มยาต้านเศร้าจึงควรใช้ตามแพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ร่วมกับการมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลาเมื่อผู้ใช้ยาพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง

3. ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-Blockers)

ยาเบต้าบล็อกเกอร์ อย่างยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) และยาไบโซโปรลอล (Bisoprolol) เป็นยาที่ใช้รักษาและควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ แต่บางครั้งแพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์เพื่อใช้เป็นยาคลายเครียด เพราะยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียด เช่น หัวใจเต้นเร็ว เสียงสั่น ตัวสั่น และเหงื่อออก เป็นต้น

ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เวียนหัว หน้ามืด มือเย็นเท้าเย็น ปัญหาการนอนหลับ ฝันร้าย และรู้สึกไม่สบายตัว เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงทั่วไปที่มักไม่รุนแรง แต่การใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย เนื่องจากหัวใจทำงานน้อยลงมากเกินปกติ หากพบอาการหายใจไม่อิ่ม เวียนหัวรุนแรง หรือตัวสั่น ควรไปพบแพทย์

แม้ว่ายา 3 กลุ่มนี้สามารถใช้เป็นยาคลายเครียดและให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน แต่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และข้อจำกัดของยานั้นแตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้ยาใดยาหนึ่งเพื่อทดแทนยาอีกชนิดได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย หากพบปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาควรไปพบแพทย์

กลุ่มยาเหล่านี้เป็นยาคลายเครียดที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยและพบได้บ่อยกว่ายาคลายเครียดกลุ่มอื่น ซึ่งในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มอื่นเพื่อบรรเทาความเครียด ปัญหาด้านการนอนหลับ และรักษาโรคที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าจะใช้ยากลุ่มใด ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ความเสี่ยงและวิธีใช้ยาคลายเครียดให้ปลอดภัย

ข้อมูลต่อไปนี้อาจช่วยให้ใช้ยาคลายได้อย่างระมัดระวังและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

  • ยาคลายเครียดทุกชนิดจำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหรือหายาคลายเครียดมาใช้เอง ทั้งจากการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และการขอยาจากผู้ป่วยคนอื่น
  • โรคเครียดเรื้อรัง ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความผิดปกติด้านอารมณ์อื่น ๆ จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น การประสบกับความเครียดและความเศร้าเพียงชั่วคราว ไม่ได้หมายถึงการป่วยเป็นโรคนั้น ๆ หากไม่แน่ใจ ควรเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม
  • เมื่อไปพบแพทย์ ควรแจ้งเกี่ยวกับอาการที่พบ โรคประจำตัว ยาและอาหารเสริมที่ใช้ หากตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ด้วยเช่นกัน
  • ใช้ยาคลายเครียดตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อผลการรักษาที่ดีและความปลอดภัยในการใช้ยา
  • ห้ามหยุดยาเอง โดยเฉพาะยาต้านเศร้าและยาเบต้าบล็อกเกอร์ เพราะอาจกระตุ้นอาการให้รุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยาคลายเครียดมากกว่า 1 ชนิดพร้อมกัน หรือในช่วงที่รักษาด้วยยาใดยาหนึ่งอยู่ เพราะอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงอันตราย หากรู้สึกว่ายาไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลายเครียด ร่วมกับเครื่องดื่มคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด หรือสารอื่น ๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาท
  • ยาคลายเครียดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป ซึ่งมักไม่เป็นอันตราย แต่หากผลข้างเคียงส่งผลต่อชีวิตประจำวัน การทำงาน หรืออาการรุนแรงขึ้น สามารถสอบถามแพทย์ถึงวิธีรับมือและแก้ไข
  • หากพบผลข้างเคียงรุนแรง เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ไม่มีสติ คล้ายจะหลับตลอดเวลา อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย ตัวเหลือง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ปัสสาวะสีเข้มขึ้น หรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ควรโทรเรียกรถพยาบาลหรือไปพบแพทย์ทันที

สิ่งที่สำคัญของการเริ่มใช้ยาคลายเครียดให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัย ควรเริ่มจากการไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างถูกต้อง เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ร่วมกับการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากพบอาการใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของผลข้างเคียงรุนแรง ควรไปพบแพทย์