รู้จัก Toxic people อย่าให้คนเป็นพิษทำร้ายชีวิตคุณ

Toxic people หรือคนเป็นพิษ เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่มีนิสัยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ชอบควบคุมบงการคนอื่น เจ้าอารมณ์ และบ่อยครั้งที่คำพูดและการกระทำของของคนเหล่านี้ทำร้ายคนรอบตัวให้รู้สึกแย่ เครียด และเจ็บปวด การอยู่ใกล้คนเป็นพิษจึงทำร้ายเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ

Toxic People ไม่จัดเป็นโรคทางจิตเวชโดยตรง แต่สันนิษฐานว่าคุณลักษณะและประสบการณ์อันเลวร้ายที่ Toxic People เคยพบเจอเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดลักษณะนิสัยของคนเป็นพิษขึ้น หากสงสัยว่าคนแบบใดเข้าข่าย Toxic People และจะมีวิธีรับมือกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมคำตอบไว้ให้คุณแล้ว

toxic people

ลักษณะนิสัยของ Toxic People

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเจอ Toxic People ในชีวิตโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเป็นพิษมักเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เช่น เพื่อน คนที่ทำงาน ญาติ หรือแม้แต่พ่อแม่ ซึ่งทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดย Toxic People มักมีนิสัยดังนี้

  • ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น เจ้ากี้เจ้าการ และชอบตัดสินคนอื่นจากบรรทัดฐานของตัวเอง
  • ชอบเรียกร้องความสนใจหรือความสงสารจากคนอื่น
  • มักสร้างปัญหาและเรื่องที่ไม่เป็นความจริง หรือทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดีและอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง
  • ไม่มีความจริงใจต่อคนอื่น กลับกลอก เชื่อถือไม่ได้ และไม่มีความซื่อสัตย์
  • เห็นแก่ตัว ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของคนอื่น
  • บังคับควบคุม หรือโน้มน้าวให้อีกฝ่ายรับรู้และเข้าใจว่าเป็นฝ่ายที่ทำผิด (Gaslighting)
  • ทำร้ายจิตใจและร่างกายคนอื่นด้วยคำพูดและการกระทำ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์

การอยู่ใกล้คนที่มีลักษณะนิสัยเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุข สูญเสียความมั่นใจและคุณค่าในตัวเอง มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่นตามมา และอาจนำไปสู่ภาวะหรือโรคทางจิตเวชได้

Toxic People เกิดจากอะไร

นิสัยของ Toxic People อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยสันนิษฐานว่านิสัยด้านมืด (Dark Triad) ของคนอาจมีส่วนทำให้เกิดนิสัยเป็นพิษต่อคนอื่น โดยนิสัยด้านมืดแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

  • แมคคิเวลเลียน (Machiavellianism) มีนิสัยชอบเอาเปรียบ หลอกใช้ และควบคุมคนอื่น 
  • ไซโคพาธี (Psychopathy) มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเห็นแก่ตัว
  • หลงตัวเอง (Narcissism) สนใจแต่ตัวเอง และคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น

นิสัยของ Toxic People อาจเกิดในผู้ที่มีโรคทางจิตเวช เช่น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โรคไบโพลาร์ และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) หรือมีนิสัยก้าวร้าวฉุนเฉียว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และต้องการได้รับคำชมเสมอ เป็นต้น

นอกจากนี้ การเติบโตมาในครอบครัวที่ปกป้อง ตามใจ และชื่นชมมากเกินไป ครอบครัวที่มีปัญหา การใช้สารเสพติด และการผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีต อาจเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะนิสัย Toxic People และหากไม่สามารถรับมือกับความเครียดจากประสบการณ์เหล่านี้ อาจทำให้แสดงนิสัยและพฤติกรรมที่เป็นพิษกับคนรอบข้างได้

รับมืออย่างไรเมื่อเจอ Toxic People

หากคนรอบตัวคุณมีลักษณะเข้าข่ายของ Toxic People วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้คุณรับมือกับคนเหล่านั้นได้

  • ไม่ควรคิดว่าพฤติกรรมของ Toxic People เป็นเรื่องปกติ เพราะการนิ่งเฉยเท่ากับเปิดทางให้ Toxic People แสดงพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกับตัวคุณหรือคนอื่น ๆ
  • กำหนดขอบเขตและพื้นที่ของตัวเองให้ชัดเจน และไม่ยอมให้คนอื่นล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวเข้ามา
  • พูดคุยกับ Toxic People ตามตรง โดยบอกให้รู้ว่าคุณไม่ชอบให้ทำพฤติกรรมนี้ และเดินออกมา
  • ถามเหตุผลที่ทำให้อีกฝ่ายทำพฤติกรรมไม่ดีต่อคุณหรือผู้อื่น และอาจให้โอกาสในการปรับปรุงนิสัย แต่ควรนึกเสมอว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของ Toxic People ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากอีกฝ่ายไม่คิดจะเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับ Toxic People เท่าที่จะทำได้ อย่างเช่น เลี่ยงการพูดคุยติดต่อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
  • ไม่ควรโทษตัวเอง เพราะ Toxic People มักใช้คำพูดและแสดงพฤติกรรมเพื่อตั้งใจบั่นทอนความรู้สึกของคุณโดยที่คุณไม่ได้ทำอะไรผิด
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบ และใช้เวลากับคนที่คุณรัก 

Toxic people มักทำให้คุณและคนรอบข้างรู้สึกโทษตัวเอง รู้สึกด้อยค่า และเจ็บปวดจากเรื่องที่ไม่ได้ทำผิด หากใช้วิธีที่กล่าวมาแล้วยังไม่สามารถรับมือได้ การเดินออกมาและตัดคนเหล่านั้นออกจากชีวิตอาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

นอกจากนี้ หากไม่สามารถรับมือกับ Toxic People ด้วยตัวเอง รู้สึกเครียด หรือถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ควรขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้ แจ้งความดำเนินคดี และไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม