ยาหยอดหูมักเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับรักษาอาการปวดหู อันเนื่องมาจากการอักเสบหรือการติดเชื้อภายในหู เช่น การอักเสบของหูชั้นนอก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการปวดหู อย่างไรก็ตาม การใช้ยาหยอดหูจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อหูของเรา
ยาหยอดหูมีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปและชนิดที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น โดยแต่ละชนิดจะใช้รักษาอาการที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงอาจมีข้อควรระวังในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปด้วย บทความนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใช้และข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหู เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนสามารถรับมือกับปัญหาเกี่ยวกับหูที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รู้จักประเภทของยาหยอดหู
ยาหยอดหูสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. ยาต้านจุลชีพและยาต้านเชื้อรา
ใช้สำหรับรักษาอาการอักเสบของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง รวมถึงอาการติดเชื้อราในหู ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการที่น้ำเข้าหูระหว่างอาบน้ำหรือว่ายน้ำแล้วไม่ได้เช็ดให้แห้ง ทำให้หูเกิดการอักเสบ ปวด คัน และอาจมีอาการบวมตามมา
ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาอาการอักเสบหรือติดเชื้อราในหู เช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) ยาโพลีมัยซินบี (Polymyxin B) ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยาอะลูมิเนียมอะซิเตท (Aluminium Acetate) และกรดอะซิติก (Acetic Acid)
2. ยาต้านการอักเสบชนิดสเตียรอยด์
ใช้สำหรับรักษาอาการอักเสบและอาการบวมซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือการติดเชื้อภายในหู เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) และยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) โดยยาหยอดหูบางชนิดอาจมีทั้งยาต้านจุลชีพและยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อยู่ด้วยกัน และในบางกรณี ยาหยอดหูคอร์ติโคสเตียรอยด์ยังสามารถใช้รักษาอาการคันหูที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้ด้วย
3. ยาแก้ปวด
ใช้สำหรับรักษาอาการปวดหูซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการอักเสบและติดเชื้อภายในหู โดยส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ เช่น ยาลิโดเคน (Lidocaine) และยาเบนโซเคน (Benzocaine) นอกจากนี้ ยาแก้ปวดหูมักมีการผสมยาต้านจุลชีพร่วมด้วย เพื่อช่วยลดการระคายเคืองจากยาต้านจุลชีพ
4. ยาละลายขี้หู
ใช้สำหรับรักษาอาการขี้หูอุดตัน โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้ขี้หูอ่อนนุ่มและสามารถเอาออกจากรูหูได้ง่ายขึ้น ยาละลายขี้หูมี 3 รูปแบบ คือ รูปแบบน้ำ รูปแบบไม่ใช่น้ำ และรูปแบบน้ำมัน ตัวอย่างยาละลายขี้หู เช่น ยาคาร์บาร์ไมด์เปอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) ยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ยาโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) และกลีเซอรีน (Glycerine)
ขั้นตอนการใช้ยาหยอดหู
การใช้ยาหยอดหูอย่างถูกต้องและปลอดภัยควรปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้
- อ่านคำแนะนำบนฉลาก และทำความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอย่างถี่ถ้วน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยาหยอดหู เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่รูหู
- หากเก็บยาหยอดหูไว้ในตู้เย็นควรทำให้ยาอุ่นขึ้นก่อนใช้ โดยการถือขวดยาไว้ในมือประมาณ 1–2 นาที เพราะถ้าใช้ยาหยอดหูในขณะที่เย็นอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้
- เปิดฝายาหยอดหูและวางฝาหงายขึ้น รวมถึงไม่ควรให้ปากขวดหรือหลอดหยดยาสัมผัสกับมือ รูหู หรือพื้นผิวอื่น ๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก
- ตะแคงศีรษะให้หูข้างที่ต้องการจะหยอดยาอยู่ด้านบน ใช้มืออีกข้างดึงใบหูส่วนบนไปทางด้านหลังให้ตึงเล็กน้อย เพื่อให้ตัวยาสามารถเข้าสู่รูหูได้ง่ายขึ้น จากนั้นหยอดยาตามปริมาณที่กำหนด
- นวดบริเวณติ่งหูขึ้นลงเบา ๆ และตะแคงศีรษะค้างไว้ตามระยะเวลาที่แพทย์หรือคำอธิบายบนฉลากแนะนำ เพื่อให้ตัวยาเข้าไปในรูหู หากมียาส่วนเกินไหลออกจากรูหูให้เช็ดด้วยทิชชู่หรือผ้าสะอาด
- ในกรณีที่ต้องใช้ยาหยอดหูทั้ง 2 ข้างให้หยอดทีละข้าง โดยหยอดหูข้างแรกให้เสร็จก่อน แล้วจึงทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำกับหูอีกข้างหนึ่ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วควรล้างมือให้สะอาดและเก็บยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำอธิบายบนฉลากให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ การใช้ยาหยอดหูสำหรับเด็กอาจเป็นเรื่องยาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยกันจับศีรษะให้ตะแคงในลักษณะที่ถูกต้องและช่วยหยอดยาให้โดยใช้วิธีการด้านบน แต่เนื่องจากใบหูของเด็กจะมีขนาดเล็กกว่าใบหูของผู้ใหญ่ ในขั้นตอนการหยอดยาจะต้องดึงใบหูส่วนล่างหรือบริเวณติ่งหูไปด้านหลังแทนเพื่อให้ตัวยาสามารถเข้าสู่รูหูได้ง่ายขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหู
ยาหยอดหูบางชนิดอาจมีข้อควรระวังในการใช้โดยเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป จึงควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหูแต่ละชนิดให้เข้าใจก่อนการใช้ยา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายแก่หูของคุณ
ข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดหูเบื้องต้นมีดังนี้
- ควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาตามคำแนะนำของแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากกว่าที่แพทย์กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้
- ไม่ควรใช้ยาหยอดหูหากสังเกตว่าหลอดหยดยามีรอยแตก รอยบิ่น หรือมีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก
- ไม่ควรใช้ยาหยอดหูหากคิดว่ามีอาการแก้วหูทะลุเกิดขึ้น โดยอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดแก้วหูทะลุ ได้แก่ ปวดหู สูญเสียการได้ยิน มีเสียงดังในหู น้ำในหูไหล และรู้สึกบ้านหมุน
- หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังจากการใช้ยาหยอดหู เช่น มีอาการปวดหูเพิ่มขึ้น เกิดอาการบวมแดงในรูหู หูอื้อ มีเสียงดังในหู สูญเสียการได้ยิน รวมถึงอาการแพ้ยาอย่างอาการวิงเวียนศีรษะ มีผื่นขึ้น และหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์
- ไม่ควรใช้ยาหยอดหูร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อตามมาได้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการใช้ยาหยอดหูก็คือ การใช้ยาให้ถูกประเภทกับปัญหาเกี่ยวกับหูที่เกิดขึ้น และการหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้ยาหยอดหูอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา