รู้ไว้ก่อนไปเอกซเรย์

เอกซเรย์ (X-Ray) เป็นการตรวจวินิจฉัยซึ่งมีที่มาจากชื่อของรังสีที่ใช้ในการตรวจ นั่นก็คือรังสี X โดยรังสีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นภาพของอวัยวะภายในในรูปแบบของภาพขาวดำที่มีปริมาณความเข้มที่ต่างกัน การเอกซเรย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการตรวจดูความผิดปกติของกระดูกส่วนต่าง ๆ  ช่องท้อง และทรวงอก เป็นต้น 

เนื่องจากเนื้อเยื่อในร่างกายจะมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสีต่างกัน ภาพที่ออกมาจึงมีความชัดเจนไม่เท่ากันเช่น แคลเซียมในกระดูกจะดูดซับรังสีได้มากที่สุดจึงทำให้เห็นภาพกระดูกเป็นสีขาว ในขณะที่ไขมันและเนื้อเยื่ออื่น ๆ จะดูดซับได้น้อยจึงทำให้เห็นเป็นสีเทา ส่วนอากาศจะดูดซับได้น้อยที่สุดจึงเห็นเป็นสีดำ โดยในการเอกซเรย์อาจมีการใช้สื่อกลางที่เป็นสารเคมีเพื่อช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นด้วย เช่น ไอโอดีน แบเรียม

 

เอกซเรย์

ประเภทของการเอกซ์เรย์

การเอกซเรย์จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • การเอกซเรย์กระดูก (Bone X-Ray) เป็นการเอกซเรย์เพื่อดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง แขน ขา มือ กระโหลกศีรษะ หรือแม้แต่ฟัน
  • การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-Ray) การเอกซเรย์ที่บริเวณช่วงอกเพื่อดูความผิดปกติของปอด หัวใจ หรือระบบหลอดเลือดหัวใจ แต่ถ้าเป็นการเอกซเรย์ช่วงอกเพื่อตรวจหาโรคมะเร็งเต้านมจะเรียกว่า แมมโมแกรม (Mammogram)
  • การเอกซเรย์ช่องท้อง (Abdomen X-Ray) การเอกซเรย์ช่องท้องจะใช้ใน 2 กรณี ได้แก่ ใช้ตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยใช้แบเรียมเป็นสื่อนำ และใช้ตรวจในกรณีฉุกเฉินที่มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะตกค้างอยู่ในร่างกาย

ทำไมต้องเอกซเรย์ 

การเอกซเรย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยหลังจากการซักประวัติแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ทำการเอกซเรย์อีกครั้งเพื่อนำผลมาวินิจฉัยร่วม ซึ่งการเอกซเรย์จะมีขึ้นในกรณีดังต่อไปนี้

  • กระดูกแตกหักหรือติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วการแตกหักหรือการติดเชื้อที่กระดูกจะสามารถเห็นได้ชัดเจนผ่านภาพถ่ายเอกซเรย์
  • ข้อต่ออักเสบ การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นร่องรอยของอาการข้อต่ออักเสบ และใช้เปรียบเทียบในกรณีอาการข้อต่ออักเสบรุนแรงขึ้น
  • ใช้ในการทำทันตกรรม ในบางครั้งทันตแพทย์ก็จำเป็นต้องเอกซเรย์ฟันเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาทางทันตกรรม เช่น ผ่าฟันคุด จัดฟัน หรือการถอนฟัน 
  • โรคกระดูกพรุน การเอกซเรย์จะทำให้สามารถเห็นความหนาแน่นของกระดูกในเบื้องต้น สำหรับวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
  • โรคมะเร็งกระดูก การเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้องอกที่กระดูกได้ชัดมากขึ้น
  • ปอดติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพที่ปอด ร่องรอยของโรคปอดบวม วัณโรค น้ำท่วมปอด หรือมะเร็งปอด จะสามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ปอด
  • มะเร็งเต้านม การเอกซเรย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมหรือการตรวจแมมโมแกรมจะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติภายในเต้านมได้
  • หัวใจโต หนึ่งในสัญญาณของภาวะหัวใจวาย ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ผ่านการเอกซเรย์ช่องอก
  • การอุดตันของหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเอกซเรย์จะฉีดสารที่ผสมไอโอดีนเข้าไปเพื่อให้เกิดการเรืองแสงในระบบหลอดเลือด และเมื่อเอกซเรย์ก็จะทำให้เห็นระบบหลอดเลือดว่ามีการอุดตันที่ใดหรือไม่
  • ปัญหาระบบขับถ่าย ผู้เชี่ยวชาญจะให้สารแบเรียมแก่ผู้ป่วยผ่านทางการดื่มหรือการสวน เพื่อทำให้เกิดการเรืองแสงและทำให้สามารถเห็นปัญหาในระบบขับถ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ลำไส้อุดตัน เป็นต้น
  • ตรวจดูสิ่งแปลกปลอม ในกรณีที่เด็กกลืนสิ่งแปลกปลอมจำพวกโลหะ การเอกซเรย์จะช่วยระบุตำแหน่งของสิ่ง ๆ นั้น เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ในการเอกซเรย์ ผู้ป่วยจะต้องสวมชุดกันรังสีเพื่อป้องกันร่างกายส่วนอื่น ๆ โดยปริมาณของรังสีที่ได้รับในการเอกซเรย์จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ตัวอย่างเช่น การเอกซเรย์ทรวงอกจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณรังสีเทียบเท่ากับปริมาณที่ร่างกายได้รับจากธรรมชาติทั่วไปติดต่อประมาณ 10 วัน

ข้อห้ามในการเอกซเรย์

การเอกซเรย์เป็นการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นที่สามารถทำได้ แต่ก็ยกเว้นในกรณีของสตรีมีครรภ์ เนื่องจากรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์จะส่งผลกระทบทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านรังสีวิทยาและแพทย์เจ้าของครรภ์ก่อนเพื่อความปลอดภัย

วิธีการเอกซเรย์

การเอกซเรย์จะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางภายในแผนกรังสีวิทยา แต่ถ้าหากเป็นในคลีนิกทำฟันหรือคลีนิกภายนอกทั่วไปก็สามารถทำได้ แต่จะเป็นในรูปแบบการวินิจฉัยเท่านั้น

เมื่อเข้าไปในห้องเอกซเรย์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญหรือนักรังสีวิทยาจะให้ผู้เข้ารับการตรวจจัดท่าทางให้อยู่ในท่าที่เมื่อเอกซเรย์ออกมาแล้วจะสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งอาจอยู่ในท่านอนหงาย นั่ง หรือยืน ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องยืนอยู่ด้านหน้าของอุปกรณ์พิเศษที่บรรจุฟิล์มเอกซเรย์ หรือเซนเซอร์ของเครื่องเอกซเรย์เอาไว้ 

หรือในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจให้นั่งหรือยืนบนอุปกรณ์ดังกล่าวและใช้กล้องเอกซเรย์ถ่ายภาพลงมาจากเหนือศีรษะ

ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในขณะเอกซเรย์คือผู้เข้ารับการตรวจจะต้องอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจต้องทำหลายครั้งจนกว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวินิจฉัยอาการต่อไป

การเตรียมตัวก่อนเอกซเรย์

ก่อนทำการตรวจเอกซเรย์  ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ หากมีการรับประทานยาอยู่ก็สามารถรับประทานต่อเนื่องไปได้ แต่ถ้าหากเป็นการเอกซเรย์ที่ต้องกลืนสารไอโอดีนหรือแบเรียม ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยา การดื่มเครื่องดื่ม หรือการกินอาหาร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสารที่ใช้ในการเอกซเรย์ 

นอกจากนี้ หากอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้เข้ารับการตรวจควรรีบบอกแพทย์ในทันทีก่อนทำการตรวจ เพื่อที่แพทย์จะได้ทราบและเลื่อนการเอกซเรย์ไปก่อนในกรณีที่ยังไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์อย่างเร่งด่วน สำหรับการแต่งกาย ควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่พอดีตัวจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีส่วนประกอบของโลหะ 

และหากผู้ป่วยเคยผ่านการผ่าตัดที่ต้องฝังอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของโลหะไว้ในร่างกาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าด้วยเช่นกัน

การดูแลหลังการเอกซเรย์

หลังจากทำการเอกซเรย์แล้ว แพทย์อาจให้ผู้เข้ารับการตรวจอยู่รอฟังผลหรือกลับบ้านได้เลย ซึ่งผลจะถูกส่งไปให้แพทย์โดยนักรังสีวิทยา ซึ่งเมื่อแพทย์เห็นผลการเอกซเรย์แล้วก็อาจมีการสั่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อใช้ในการวินิจฉัยร่วมแล้ววางแผนในการรักษาต่อไป 

สำหรับอันตรายจากการแพร่กระจายของรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์ถือว่าต่ำมากหรือแทบไม่มีเลย เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ในการเอกซเรย์อยู่ในปริมาณที่ต่ำ และให้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย

ทั้งนี้ก็ยังอาจพบผลข้างเคียงจากการเอกซเรย์ได้อยู่บ้าง โดยผลข้างเคียงที่อาจพบจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

ผลข้างเคียงจากสารทึบแสงและยาที่ใช้ในการเอกซเรย์  

สารทึบแสงและยาที่ใช้ในการเอกซเรย์อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น 

  • อุจจาระมีสีซีด การใช้สารแบเรียมในการเอกซเรย์อาจทำให้อุจจาระที่ถ่ายออกมามีสีซีดอย่างน้อย 1–2 วัน
  • ตาพร่ามัว ยาฉีดที่ใช้เพื่อลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารอาจส่งผลให้สายตาพร่ามัวในช่วง 1–2 ชั่วโมงแรก
  • ผื่นขึ้น สำหรับผู้ที่ต้องใช้สารไอโอดีนร่วมด้วยอาจมีผื่นขึ้น และรู้สึกไม่สบายได้

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ แต่พบได้น้อย เช่น

  • รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ
  • ลิ้นรับรู้รสชาติคล้ายโลหะ
  • เวียนศีรษ
  • คลื่นไส้
  • มีอาการคัน
  • อาการลมพิษ 
  • ความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
  • อาการช็อกจากการแพ้อย่างรุนแรง
  • หัวใจหยุดเต้น

ผลข้างเคียงจากรังสีเอกซเรย์ 

ผลข้างเคียงที่เกิดจากรังสีจะขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี หรือความถี่ในการเอกซเรย์ และบริเวณของอวัยวะที่โดนรังสี โดยที่อาจพบได้มีดังนี้

  • ผิวหนังบริเวณที่ถูกรังสีแดงหรือไหม้
  • ผิวแห้ง
  • ปากแห้ง 
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปริมาณเม็ดเลือดต่ำลง
  • กลืนอาหารหรือน้ำได้ลำบาก

นอกจากนี้การเอกซเรย์ติดต่อกันบ่อย ๆ ยังอาจทำให้กระดูกบางลง หรือมีอาการป่วยจากการได้รับรังสีเกินขนาด (Radiation Poisoning) เกิดจากการได้รับรังสีในปริมาณที่สูงติดต่อกันในช่วงเวลาสั้น ๆ  อาการที่พบได้คือ เป็นลม มึนงงสับสน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง มีแผลพุพองตามผิวหนังและปาก มีเลือดออก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นหากหลังจากการเอกซเรย์พบอาการผิดปกติกับร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที