หลายคนมีนิสัยขี้ลืมเป็นประจำ เช่น ลืมว่าตนเองจอดรถไว้ตรงไหนเมื่อไปห้างสรรพสินค้า ลืมหยิบบัตรเอทีเอ็มหลังถอนเงินเสร็จ หรือลืมสิ่งที่กำลังจะพูด วิธีแก้ทำได้ด้วยการฝึกตนเองให้มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำ การใช้โน้ตช่วยจำ และการฝึกสมองด้วยวิธีต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาความจำให้ดีขึ้นด้วย ทว่าอาการลืมที่ไม่สามารถเรียกความทรงจำกลับมาได้ อาจเป็นสัญญาณของโรคสมองเสื่อม ซึ่งมีอาการบ่งชี้อย่างไรบ้าง ศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
ลืมกับสมองเสื่อม ต่างกันอย่างไร ?
นิสัยขี้ลืมนั้นอาจมีสาเหตุหนึ่งมาจากอาการเหม่อลอย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น ลืมว่าวางปากกาไว้ที่ไหนเพราะกำลังคิดถึงเรื่องอื่นอยู่ สมองจึงไม่บันทึกความทรงจำ เนื่องจากไม่มีกระบวนการใส่รหัสข้อมูล ส่วนอาการของโรคสมองเสื่อมนั้น ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตัวเองหลงลืม อาจถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคย ไม่สามารถจดจำเส้นทางได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ หรือคนรู้จัก รวมทั้งละเลยด้านความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพของตนเอง
ตัวอย่างอาการของผู้ที่มีนิสัยขี้ลืมต่อไปนี้เป็นอาการปกติที่พบได้ทั่วไป แต่ในบางรายหากมีอาการที่น่าสงสัยหรือจัดอยู่ในระดับผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะสมองเสื่อมได้
- ลืมเป็นครั้งคราว การลืมเป็นเรื่องปกติ แม้จะเกิดกระบวนการจำในสมองแล้ว แต่ก็อาจลืมได้อีก ผู้ที่มีอาการลืมจะสามารถนึกถึงสิ่งที่ลืมได้อีกครั้ง แต่การลืมสิ่งเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้ง หรือไม่สามารถจำอะไรได้แม้ว่าจะพยายามจดจำเป็นอย่างมาก นับเป็นอาการผิดปกติ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์
- ทบทวนสิ่งที่ลืมได้ การลืมชื่อคน ลืมคำพูดระหว่างบทสนทนา หรือลืมเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นอาการปกติหากสามารถเรียกความจำให้กลับคืนมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการนึกขึ้นได้เองจากการคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดหรือจากการบอกใบ้ แต่หากไม่สามารถนึกหรือจำอะไรได้แม้กระทั่งชื่อคนรู้จักที่สนิทสนมหรือสถานที่ที่คุ้นเคย อาจเป็นอาการของสมองเสื่อม
- นึกได้เมื่อถูกเตือนความจำ คนปกติมักจำสิ่งต่าง ๆ ได้เมื่อมีการเตือน ไม่ว่าจะเป็นการเตือนจากคน ภาพ ประโยค หรือเรื่องราว แต่ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะไม่สามารถจำอะไรได้เลย แม้สิ่งช่วยเตือนนั้นจะเชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตก็ตาม
- ลืมเมื่อต้องทำหลายสิ่งพร้อมกัน หรือลืมเมื่อเกิดภาวะเครียดและรู้สึกเหนื่อยล้า เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่การลืมสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ หรือจัดลำดับเหตุการณ์ที่เคยทำเป็นประจำไม่ได้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคสมองเสื่อม
- ใช้เครื่องมือช่วยจำ เช่น สามารถจดโน้ตหรือปฏิทินเพื่อช่วยป้องกันการลืมได้ แต่ผู้ที่มีอาการลืมจากภาวะสมองเสื่อมอาจไม่สามารถจดจำและตรวจดูสิ่งที่บันทึกในโน้ตหรือปฏิทินได้
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ผู้ที่มีนิสัยขี้ลืมจะรู้สึกโกรธเมื่อลืมสิ่งของต่าง ๆ แล้วหาไม่เจอ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ไม่ยอมพูด รวมถึงความสามารถในการแก้ปัญหาลดลง อาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคสมองเสื่อม
- ดูแลตนเอง ผู้ที่มีอาการลืมยังคงทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ผู้ที่มีอาการหลงลืมจากสมองเสื่อมจะละเลยสุขอนามัย ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า มีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง เช่น อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเนื่องจากลืมว่าตนเองรับประทานอาหารแล้ว หรืออาจมีน้ำหนักลดลงจากการลืมรับประทานอาหารก็ได้
ขี้ลืม แก้อย่างไร ?
วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยแก้ปัญหาขี้ลืม และพัฒนาทักษะการจำได้
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับสนิทเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประสานความจำรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้จดจำและทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งระยะเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมของวัยผู้ใหญ่นั้น อยู่ที่ประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน
- วางของให้เป็นที่ การวางสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้เป็นประจำไว้ตำแหน่งเดิม เช่น กุญแจรถ หรือแว่นตา จะช่วยป้องกันการลืมและประหยัดเวลาในการค้นหาสิ่งของเหล่านั้นได้
- พูดสิ่งที่ได้ยินซ้ำ การพูดซ้ำช่วยให้จดจำรายละเอียดหรือข้อมูลที่เพิ่งได้รับมาได้ และยังช่วยให้จำข้อมูลดังกล่าวได้อีกครั้งในเวลาต่อมา
- ใช้โน้ตช่วยจำ การเขียนสิ่งที่ต้องทำลงบนกระดาษโน้ตหรือปฏิทินช่วยป้องกันการลืมได้ เช่น เขียนรายชื่อคนที่ต้องโทรศัพท์ติดต่อ ธุระที่ต้องทำ หรือการนัดหมาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้ลืมได้ง่าย
- เชื่อมโยงข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่เข้าด้วยกัน เช่น การปะติดปะต่อเรื่องราวจากรายการอาหารหรือสิ่งของที่ต้องซื้อ ช่วยพัฒนาความจำได้
- แบ่งข้อมูลออกเป็นส่วน ๆ เช่น จำตัวเลขจำนวนมากเป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือจำบทพูดยาว ๆ เฉพาะประโยคแรกของย่อหน้านั้น ช่วยให้จำข้อมูลได้ดีขึ้น
- กระตือรือร้นอยู่เสมอ กิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตใจ เช่น การเล่นปริศนาคำไขว้ การเล่นไพ่บริดจ์ การใช้เส้นทางใหม่ ๆ ในการเดินทาง การเรียนดนตรี หรือการเป็นอาสาสมัคร ช่วยพัฒนาสมองและพัฒนาความจำได้
- เข้าสังคม การสังสรรค์พบปะกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนฝูง ช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียความทรงจำได้
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยพัฒนาความจำและทักษะการคิดทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยประโยชน์ทางตรงของการออกกำลังกาย คือ ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ลดการอักเสบ กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารที่ช่วยในการเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนเส้นเลือดใหม่ รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง ส่วนประโยชน์ทางอ้อมของการออกกำลังกายนั้น คือ ช่วยพัฒนาอารมณ์และการนอนหลับให้ดีขึ้น ลดความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองบกพร่อง
- เลือกรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือแหล่งอาหารจำพวกโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่มีหนัง ช่วยบำรุงร่างกายโดยรวมและอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์อาจทำให้รู้สึกสับสน มึนงง และสูญเสียความทรงจำได้ รวมทั้งไม่ควรใช้สารเสพติด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะความจำเสื่อมด้วย
- ระมัดระวังในการใช้ยา การใช้ยาคลายเครียด ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคความดันโลหิต และยาชนิดอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อความจำได้ เนื่องจากผลข้างเคียงของยาบางอย่างทำให้รู้สึกง่วงและมึนงง ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากสงสัยว่ายาที่กำลังรับประทานอาจก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้
ปัญหาการลืมที่ควรไปพบแพทย์
ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าอาจทำให้มีอาการขี้ลืมได้ ซึ่งความจำจะดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติเมื่อภาวะดังกล่าวหายไป แต่หากมีอาการลืมบ่อย ๆ และติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมตามอาการต่อไป โดยแพทย์อาจรักษาด้วยการให้คำปรึกษา หรืออาจให้รับประทานยาควบคู่ไปด้วย