ลูกเป็นตากุ้งยิง ควรดูแลอย่างไร

ตากุ้งยิงเป็นอาการที่พบได้กับคนทุกช่วงวัย แต่หากเกิดในเด็กอาจทำให้พ่อแม่กังวลใจและไม่ทราบว่าควรดูแลอย่างไรให้หายดี ตากุ้งยิงมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนองขนาดเล็กที่บริเวณขอบเปลือกตา และมักทำให้รู้สึกเจ็บปวด หรือทำให้น้ำตาไหล หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้อาการของลูกหายได้เร็วขึ้น 

ตากุ้งยิงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ซึ่งเด็กเป็นวัยที่ชอบเล่นซุกซนและสนใจการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเล่น หากไม่ได้ล้างมือให้สะอาดและเอามือไปขยี้ตาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณดวงตาได้ง่าย พ่อแม่จึงควรดูแลความสะอาดและเรียนรู้วิธีรักษาเมื่อลูกเป็นตากุ้งยิง เพื่อป้องกันการเกิดโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อดวงตาของลูก

Stye in Children

ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร

ดวงตาของคนเราประกอบด้วยต่อมไขมันมากมายที่ผิวหนังในเปลือกตา เพื่อผลิตไขมันให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา แต่ในบางกรณีต่อมไขมันอาจเกิดการอุดตันจากเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ไขมันที่สะสมอยู่ หรือแบคทีเรียบนผิวหนัง ทำให้ไม่สามารถระบายไขมันออกได้และเกิดการอักเสบตามมา หากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปจะทำให้เกิดตุ่มนูนแดง มีหนอง ทำให้รู้สึกเจ็บปวดตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และมีน้ำตาไหลจากอาการเคืองตา ซึ่งแบคทีเรียที่พบส่วนใหญ่ คือ สแตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) 

ตากุ้งยิงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เปลือกตาบนและล่าง และสามารถเกิดขึ้นที่ด้านในหรือด้านนอกเปลือกตาก็ได้ โดยตากุ้งยิงที่เกิดภายนอกมักมีลักษณะเป็นตุ่มนูนใกล้โคนขนตา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อบริเวณรูขุมขนดวงตา ส่วนตากุ้งยิงภายในดวงตามักเกิดจากการติดเชื้อของต่อมไขมันที่อยู่ในเปลือกตา

เด็กบางคนอาจเสี่ยงต่อการเป็นตากุ้งยิงได้มากกว่าเด็กคนอื่นหากเคยเป็นตากุ้งยิงมาก่อน หรือมีโรคประจำตัว เช่น เซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคเบาหวาน โรคเปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) ที่เกิดจากการผลิตน้ำมันมากเกินไป เป็นต้น

นอกจากนี้ ตากุ้งยิงอาจมีอาการคล้ายกับคาลาเซียน (Chalazion) แต่สามารถสังเกตความแตกต่างได้จากอาการ โดยคาลาเซียนมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ในระยะแรกอาจไม่ทำให้เกิดอาการบวมรอบเปลือกตา แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดตุ่มนูนหรืออาการอื่นขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพบบริเวณกลางเปลือกตาบน ทำให้หลายคนไม่ทราบว่ามีอาการ 

วิธีรักษาตากุ้งยิง

โดยทั่วไป ตากุ้งยิงสามารถหายได้เองภายใน 2–3 วัน แต่หากมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้อาการของลูกหายเร็วขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีต่อไปนี้

  1. ดูแลอาการที่บ้าน

การประคบร้อนที่บริเวณดวงตาจะช่วยขับหนองที่อักเสบในตากุ้งยิงไหลออกมา ทำให้หายจากอาการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น โดยใช้ผ้าขนหนูสะอาดชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณดวงตาประมาณ 5–10 นาที ทำซ้ำวันละ 3–4 ครั้ง พ่อแม่ควรทดสอบอุณหภูมิของน้ำไม่ให้น้ำร้อนจนเกินไปก่อนนำไปประคบที่ดวงตาของลูก หากเป็นเด็กเล็กอาจประคบในช่วงเวลาที่ลูกเริ่มง่วงนอน หรือเบี่ยงเบนความสนใจของลูกด้วยการเล่านิทานให้ฟังขณะประคบดวงตา เพื่อช่วยให้ลูกไม่ต่อต้านและสามารถประคบได้สะดวกขึ้น

เมื่อตุ่มนูนบริเวณดวงตาเริ่มยุบลง ควรเช็ดทำความสะอาดเปลือกตาของลูกด้วยผ้าสะอาดหรือสำลีชุบน้ำอุ่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากตากุ้งยิงเข้าสู่ดวงตาหรือผิวหนังบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ควรสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ไม่ขยี้ตาหรือบีบให้หนองไหลออกมา และไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนอื่น ซึ่งจะช่วยให้อาการตากุ้งยิงหายได้เร็วขึ้น

  1. การรักษาโดยแพทย์

หากอาการของลูกยังไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน หรืออาการแย่ลง พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะชนิดยาหยอด ครีม หรือขี้ผึ้งทาบริเวณที่มีตุ่มนูน ในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้เด็กรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ 

  1. การผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่อาการตากุ้งยิงยังไม่ดีขึ้นหลังจากการดูแลตนเองและการใช้ยา หรือตากุ้งยิงรบกวนการมองเห็น โดยแพทย์จะใช้ยาชา และผ่าตัดนำหนองหรือสิ่งที่อุดตันออกไป

ป้องกันตากุ้งยิงให้ได้ผล

วิธีป้องกันตากุ้งยิงที่ดีที่สุดคือการสอนให้ลูกรักษาความสะอาดบริเวณรอบดวงตาอย่างสม่ำเสมอ หากลูกเคยเป็นตากุ้งยิงมาก่อน อาจเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำได้มากกว่าเด็กคนอื่น พ่อแม่จึงควรป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ฝึกให้ลูกล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากการออกไปเล่นนอกบ้าน การใช้ห้องน้ำสาธารณะ การกลับจากโรงเรียน หรือเมื่อหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ
  • ไม่ใช้มือขยี้ ถู หรือสัมผัสบริเวณดวงตา
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวและผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เป็นตากุ้งยิง
  • หากสวมใส่คอนแทกต์เลนส์ ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดคอนเทคเลนส์ที่ได้มาตรฐานทำความสะอาดคอนแทกต์เลนส์อย่างถูกวิธี ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งก่อนการใส่และการถอดคอนแทกต์เลนส์
  • ล้างทำความสะอาดเครื่องสำอางก่อนเข้านอนเสมอ โดยเฉพาะบริเวณดวงตา และไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุแล้วหรือเปิดใช้งานมานานเกิน 3 เดือน
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตาด้วยสำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำผสมสบู่ที่อ่อนโยน แชมพูเด็ก หรือน้ำยาสำหรับทำความสะอาดดวงตาโดบเฉพาะ
  • หากลูกเพิ่งหายจากการเป็นตากุ้งยิง การประคบร้อนบ่อย ๆ อาจช่วยป้องกันให้ไม่เกิดอาการซ้ำอีก

โดยทั่วไป อาการบวมจากตากุ้งยิงมักค่อย ๆ ยุบลงภายใน 3 วัน และหายสนิทได้ภายใน 7–10 วันหลังการดูแลรักษาที่บ้าน ทั้งนี้ ตากุ้งยิงมักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ที่ทำให้พ่อแม่เป็นกังวล แต่หากสังเกตว่าอาการของลูกไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น บวมแดงรอบเปลือกตามากขึ้น ปวดศีรษะ มีไข้ เบื่ออาหาร หรือรู้สึกไม่สบายตัว ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา