ล้างจมูก วิธีทำความสะอาดจมูกง่าย ๆ ด้วยตนเอง

การล้างจมูก เป็นการฉีดหรือเทน้ำเกลือจากรูจมูกข้างหนึ่งให้ไหลผ่านโพรงจมูกแล้วไปออกรูจมูกอีกข้างหนึ่ง เพื่อช่วยลดอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หรืออาการระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย โดยวิธีนี้เป็นวิธีดูแลตัวเองที่ทำได้ง่ายที่บ้าน เพียงแค่ต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยภูมิแพ้ ผู้ที่มีอาการคัดจมูกจากโรคหวัด และผู้ที่มีอาการโพรงจมูกแห้งจากการอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม การล้างจมูกก็ยังมีข้อควรรู้ควรระวังที่ควรทราบก่อนเช่นกัน

ล้างจมูก

ประโยชน์ของการล้างจมูก

ในจมูกคนเรามีโครงสร้างลักษณะเป็นขนขนาดเล็กที่เรียกว่าซีเลีย (Cilia) อยู่ภายในจมูกและโพรงจมูก ซึ่งมีหน้าที่คอยพัดเอาน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งไปที่หลังคอให้ถูกกลืนลงไปหรือไม่ก็พัดให้ออกไปจากจมูก

โดยการใช้น้ำเกลือล้างจมูกจะมีประโยชน์ในการช่วยกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส และสารก่อความระคายเคืองทั้งหลายให้หลุดออกไปรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยในกรณีที่ซีเลียไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติเนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวมอีกด้วย

นอกจากนี้ น้ำเกลือยังช่วยชะล้างน้ำมูกให้น้อยลง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการอักเสบของโพรงจมูกให้มีอาการบวมน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่มักพบได้ในผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยภูมิแพ้ และผู้ป่วยโรคหวัดได้อีกด้วย

ข้อควรรู้ก่อนล้างจมูก

การล้างจมูกสามารถทำได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรนำมาใช้กับทารกที่อายุยังน้อยหรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเด็กอาจยังไม่สามารถเรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อบริเวณหูหรือโพรงจมูกที่มีอาการแน่นจมูกและหายใจลำบากอยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงการล้างจมูกเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ส่วนด้านผลข้างเคียง การล้างจมูกถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย ซึ่งผู้ที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ก็อาจจะล้างวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน หรืออาจมากกว่านั้นหากมีอาการที่รุนแรง แต่ก็ควรสังเกตอาการตัวเองด้วย หากล้างจมูกติดต่อกันนาน ๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น ความรู้สึกระคายเคือง ปวดหู หรืออาการแสบหลังล้าง ซึ่งผู้ที่เกิดอาการเหล่านี้ควรลดปริมาณเกลือที่ใช้ผสมให้น้อยลง ลดความถี่ในการล้างจมูกลง และปรับอุณหภูมิน้ำที่ใช้ให้เหมาะสม ไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป 

ขั้นตอนการล้างจมูก

ก่อนเริ่มล้างจมูก ควรเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมก่อน โดยอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้จะมีดังต่อไปนี้

  • อุปกรณ์สำหรับใส่น้ำเกลือล้างจมูก เช่น อุปกรณ์สำเร็จรูปที่มีน้ำเกลือภายในพร้อม ลูกสูบยางแดง กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์คล้ายกาน้ำสำหรับการล้างจมูกโดยเฉพาะ
  • น้ำเกลือสำเร็จรูปที่ปราศจากเชื้อ และมีความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่ 0.9% 
  • ในกรณีที่เตรียมน้ำเกลือเอง ให้นำผงสารละลายสำหรับทำน้ำเกลือที่ปราศจากไอโอดีนหรือเกลือแกงในปริมาณ ¼–½ ช้อนชาผสมกับน้ำอุ่น 2 แก้ว หรือตามฉลากผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาดผ่านการกลั่นหรือต้มมาก่อน และอาจเพิ่มเบกกิ้งโซดาสักหยิบมือเพื่อช่วยให้ฤทธิ์ของเกลือเบาลง ทั้งนี้ น้ำเกลือที่เตรียมเองควรใช้ภายใน 1 วันเท่านั้น

เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็ให้ทำการล้างจมูกตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. สูบน้ำเกลือเข้าอุปกรณ์ล้างจมูกในปริมาณ 10–15 มิลลิลิตร ในกรณีที่ใช้กับผู้ใหญ่ หรือประมาณ 5 มิลลิลิตรในกรณีที่ใช้กับเด็ก
  2. โน้มตัวเข้าหาอ่างล้างหน้าทำมุมประมาณ 45 องศา แล้วเอียงศีรษะตะแคงให้รูจมูกข้างหนึ่งอยู่ในบริเวณอ่าง เพื่อน้ำเกลือจะได้ไหลออกไปยังอ่างล้างหน้า ป้องกันน้ำเกลือย้อนไหลลงคอหรือหลอดลม
  3. จ่อปลายของอุปกรณ์และฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูกข้างที่อยู่ด้านบน โดยในระหว่างนี้ ให้อ้าปากไว้เพื่อหายใจทางปากแทนจมูก และควรบ้วนน้ำเกลือทิ้ง
  4. เมื่อเสร็จแล้วให้สั่งน้ำมูกเบา ๆ เพื่อให้น้ำเกลือที่เหลือไหลออกมาให้หมด แล้วทำขั้นตอนเดียวกันใหม่กับรูจมูกอีกข้างหนึ่ง
  5. ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมด ตากให้แห้ง และเก็บไว้ในที่ที่สะอาดและปราศจากความชื้น

ทั้งนี้ นอกจากการล้างจมูกอย่างถูกต้องแล้ว ความสะอาดก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้ล้างจมูกควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยผู้ที่ต้องการล้างจมูกต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอย่างมาก ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะผู้มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีนี้

การล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลืออาจเห็นผลได้ใน 1–2 ครั้งหลังจากเริ่มทำ และหากทำไปนาน ๆ ก็จะยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบางคนอาจล้างทุกวันเพื่อไม่ให้มีอาการระคายเคืองเกิดขึ้น แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นแล้วก็อาจลดลงเหลือเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

สุดท้ายนี้ ผู้ที่ล้างจมูกแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลงกว่าเดิม หรือพบอาการผิดปกติบางอย่างตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ปวดศีรษะ มีเลือดกำเดาไหล ผู้ที่มีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับตรวจและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ