วิธีรับมือและป้องกันขาพลิก อุบัติเหตุที่เกิดบ่อยในชีวิตประจำวัน

ขาพลิกเกิดได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจดูแลเพราะคิดว่าสักพักอาการคงจะหายไปเอง แต่หากเป็นรุนแรงแล้วปล่อยไว้หรือดูแลผิดวิธีอาจส่งผลต่อการเดินและสุขภาพเท้าได้ 

ขาพลิกหรือข้อเท้าแพลงเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นข้อเท้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกบริเวณเท้าและมีหน้าที่คอยพยุงข้อเท้าเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดออกจากกัน ส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง เช่น ปวดเมื่อลงน้ำหนักไปที่เท้า บวม และฟกช้ำ อย่างไรก็ตาม หากเราทราบวิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้นก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ และอาจช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย

วิธีรับมือและป้องกันขาพลิก อุบัติเหตุที่เกิดบ่อยในชีวิตประจำวัน

สาเหตุที่ทำให้ขาพลิก

ขาพลิกมักเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าบิดหรือพลิกไปจากรูปเดิมกะทันหัน เช่น การสะดุด ลื่น หรือหกล้ม โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนพื้นที่เปียกหรือพื้นที่ไม่สม่ำเสมอซึ่งมักจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การใส่รองเท้าไม่พอดีกับขนาดเท้าหรือไม่เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ โดยเฉพาะรองเท้าส้นสูง รวมถึงการมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ หรือการไม่ค่อยออกกำลังกาย ซึ่งอาจทำให้ข้อเท้ามีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นต่ำด้วย

นอกจากนี้ ขาพลิกจะเกิดขึ้นบ่อยระหว่างการเล่นกีฬาที่ต้องมีการวิ่ง ปะทะ กระแทก และใช้ข้อเท้าเป็นหลัก เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ บาสเกตบอล รวมถึงกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากหรือกระโดดบ่อย ๆ เช่น กระโดดเชือก ยิมนาสติก บัลเลต์ หรือเชียร์ลีดเดอร์ เพราะอาจมีการลงเท้าผิดจังหวะเมื่อกระโดดถึงพื้น และทำให้ขาพลิกได้เช่นกัน

การดูแลตัวเองเมื่อเกิดอาการขาพลิก

หากเกิดอาการขาพลิกควรรีบปฐมพยาบาลให้เร็วที่สุดตามหลักการ RICE เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวมอักเสบ และควรทำซ้ำ 23 วันหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น โดยการปฐมพยาบาลตามหลักการ RICE มีวิธีดังนี้

  • R ย่อมาจาก Rest คือการพักการใช้ข้อเท้าข้างที่ปวด โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักไปที่เท้ามาก เช่น วิ่ง กระโดด เล่นกีฬา และอาจใช้ไม้ค้ำช่วยพยุงเดินในกรณีที่เดินไม่สะดวก
  • I ย่อมาจาก Ice คือการประคบเย็นบริเวณข้อเท้าเพื่อลดอาการปวดและอาการบวม โดยประคบเป็นเวลาประมาณ 20 นาที ทุก 2–3 ชั่วโมงโดยเฉพาะในวันแรก แต่ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบลงบนผิวหนังโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือมีการรับความรู้สึกลดลง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
  • C ย่อมาจาก Compression คือการรัดบริเวณข้อเท้าด้วยผ้าพันแผลแบบยืดเพื่อช่วยพยุงข้อเท้าที่บาดเจ็บและลดอาการบวม แต่ไม่ควรรัดแน่นจนเกินไปเพราะอาจทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
  • E ย่อมาจาก Elevation คือการยกบริเวณข้อเท้าให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะในช่วง 2 วันแรกเพื่อลดอาการบวม โดยอาจใช้หมอนหนุนข้อเท้าให้สูงขึ้นในระหว่างการนอน 

กรณีที่มีอาการปวดมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซน แต่คนที่มีโรคประจำตัวควรระมัดระวังในการรับประทานยา โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน 

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณข้อเท้าด้วยความรุนแรงเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม อาจนวดเบา ๆ และทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพยายามดูแลรักษาขาพลิกตามหลักการเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 57 วัน หรือมีอาการรุนแรง เช่น ข้อเท้าบิดหรือบวมผิดปกติ มีอาการปวดมาก และไม่สามารถเดินได้ ควรรีบไปพบแพทย์

ทิปง่าย ๆ ในการป้องกันขาพลิก

การป้องกันขาพลิกจะเน้นไปที่การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ข้อเท้ามีความแข็งแรงและยืดหยุ่นอยู่เสมอเพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดขาพลิกหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • เมื่อออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง ใส่รองเท้าให้ถูกกับประเภทของกีฬา และสวมอุปกรณ์ป้องกันข้อเท้าในระหว่างเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น อุปกรณ์พยุงข้อเท้าสำหรับคนเล่นตะกร้อ
  • ใช้ความระมัดระวังขณะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการเดินหรือวิ่งบนพื้นผิวที่ลื่นหรือไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเดินหรือวิ่งด้วยเท้าเปล่า
  • เลือกรองเท้าที่มีคุณภาพและพอดีกับขนาดเท้าของตัวเอง หากจำเป็นต้องใส่รองเท้าส้นสูงควรเลือกรองเท้าที่ไม่สูงจนเกินไป และอาจเลือกใส่แบบส้นตึกแทนแบบส้นเข็ม
  • รักษาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของข้อเท้าด้วยการออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่ควรออกกำลังกายอย่างพอดีและเหมาะสมกับสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

วิธีรับมือกับอาการขาพลิกที่ดีที่สุดคือการป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดขาพลิก จึงควรระมัดระวังเวลาทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว รวมทั้งควรเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้แก่ข้อเท้าอยู่เสมอ