สะกดจิต (Hypnotherapy หรือ Hypnosis) คือ หนึ่งในการรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด โดยมุ่งเน้นไปที่การที่ระดับจิตสำนึก วิธีการรักษานี้มักใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บในระยะยาว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น บรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง หรือช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
สะกดจิตถูกใช้ในการรักษาเมื่อใด ?
การสะกดจิตถือเป็นวิธีอาจช่วยในการรักษาภาวะเครียดหรือวิตกกังวล จึงเป็นทางเลือกที่ถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเครียดหรืออาการวิตกกังวลร่วมกับทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อันได้แก่
- ควบคุมอาการเจ็บปวด ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดที่สืบเนื่องมาจากโรคที่เป็น เช่น โรคมะเร็ง โรคลำไส้แปรปรวน โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โรคความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร อาการปวดศีรษะ หรือเกิดจากการรักษาทางทันตกรรม การสะกดจิดสามารถช่วยบรรเทาอาการให้ลดลง
- รักษาอาการทางจิต และฟื้นฟูสุขภาพจิต เช่น รักษาภาวะซึมเศร้า ช่วยในการปรับเปลี่ยนอารมณ์ หรือช่วยให้ผู้ป่วยมีความหวังมากขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่การรักษาด้วยการสะกดจิตช่วยได้
- รักษาอาการร้อนวูบวาบ ในสตรีที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบมักเกิดขึ้นได้ง่าย และเชื่อว่าการรักษาด้วยการสะกดจิตอาจสามารถรักษาอาการนี้ได้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสะกดจิตอาจช่วยรักษาพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การนอนไม่หลับ การฉี่รดที่นอน การสูบบุหรี่ ภาวะอ้วน หรืออาการกลัวที่รุนแรงได้
- รักษาอาการอ่อนเพลีย ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม การรักษาด้วยการสะกดจิตร่วมกับการรักษาด้วยรังสีบำบัด สามารถช่วยลดอาการอ่อนเพลียลงได้
สะกดจิตมีการทำงานอย่างไร ?
วิธีการรักษานี้ถือเป็นวิธีการรักษาบำบัดทางจิต เพราะระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะถูกสะกดจิตนั้น จะช่วยให้แพทย์สามารถทราบได้ว่า ผู้ป่วยมีความทรงจำ ความคิด ความรู้สึกที่เจ็บปวดซึ่งถูกซ่อนเอาไว้อย่างไรบ้าง อีกทั้งการสะกดจิตยังช่วยปรับเปลี่ยนการรับรู้ของผู้ป่วย เช่น ปิดกั้นอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโรคหรือการรักษาอื่น ๆ ได้
ทั้งนี้การรักษาด้วยการสะกดจิตแบ่งออกเป็น 2 วิธี ที่มักใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
- การรักษาแบบให้คำแนะนำ การสะกดจิตวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองที่ดีขึ้นต่อคำแนะนำต่าง ๆ โดยการสะกดจิตจะเน้นช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างได้ เช่น หยุดการกัดเล็บ เลิกสูบบุหรี่ หรือเปลี่ยนการรับรู้ของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรักษาอาการเจ็บปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้
- การรักษาแบบวิเคราะห์ผู้ป่วย เป็นการสะกดจิตที่มุ่งเน้นไปที่การหาสาเหตุของโรค อาการ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในอดีตที่ถูกซ่อนไว้ และเมื่อผู้เชี่ยวชาญทราบถึงสาเหตุแล้วก็จะช่วยให้การรักษาในขั้นต่อไปทำได้ตรงจุดมากขึ้น
สะกดจิตอันตรายหรือไม่ ?
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดว่าการสะกดจิตเป็นวิธีการควบคุมจิตใจ หรือการล้างสมอง ซึ่งจริง ๆ แล้วการสะกดจิตนี้ไม่ใช่วิธีการรักษาที่อันตราย และในระหว่างการสะกดจิต ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถควบคุมจิตใจของผู้ป่วยให้ทำพฤติกรรมที่น่าอาย หรือบังคับให้ทำอะไรได้ ทว่าในการรักษานั้นก็อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่น อาจทำให้ผู้ป่วยมีการหลงลืมความทรงจำบางช่วง หรือมีความทรงจำที่ผิดพลาดในบางเรื่อง อีกทั้งยังอาจได้ผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการรักษาทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ ดังนั้นก่อนทำการรักษา ผู้เชี่ยวชาญจะต้องแจ้งถึงประโยชน์หรือความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบก่อน
ข้อดีของการสะกดจิต
การสะกดจิตถือเป็นวิธีการรักษาที่มีข้อดีอยู่ไม่น้อย เป็นการรักษาที่มักนำมาใช้เพื่อช่วยส่งเสริมการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งการรักษาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้ป่วย เนื่องจากการสะกดจิตเป็นการรักษาที่ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย
การรักษานี้อาจไม่ได้ผลกับทุกคนเสมอไป และเป็นเพียงการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก โดยการรักษาด้วยวิธีนี้มักนำมาใช้เพื่อการรักษาทางจิตเวช อย่างภาวะซึมเศร้าที่มักมีความแปรปรวนทางอารมณ์ และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งการสะกดจิตนั้นจะสามารถช่วยให้สภาพจิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ไขพฤติกรรมที่ผิดปกติได้อีกด้วย
ข้อเสียของการสะกดจิต
แม้จะเป็นการรักษาที่ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อย แต่ก็ยังเกิดความเสี่ยงจากการรักษาได้บ้าง ที่อันตรายมากที่สุดคือ การสะกดจิตอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะการกุเรื่อง สร้างความจำขึ้นใหม่ (Confabulations) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยนั้นมีความทรงจำที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จนอาจทำให้คนรอบข้างมองดูเหมือนผู้ป่วยมีพฤติกรรมการโกหกได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เกิดความวิตกกังวล แต่อาการเหล่านี้ก็จะหายไปหลังจากการรักษา
การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลเสียต่อคนบางกลุ่ม ทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น หรือการรักษาอาจไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากปัญหาทางจิตที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งสมาธิเพื่อเข้าสู่สภาวะสะกดจิตได้ตามที่แพทย์คาดการณ์ไว้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตก่อนจะเข้าทำการรักษาด้วยการสะกดจิต
ขั้นตอนการสะกดจิตทำอย่างไร ?
การสะกดจิตเป็นการรักษาที่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาต หรือผู้ที่ผ่านการรับรองว่าผ่านการฝึกฝนเฉพาะทางด้านการสะกดจิตมาเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างมาก
ในการรักษา แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงขั้นตอนในการรักษา และตั้งเป้าหมายในการรักษา จากนั้นเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา ผู้เชี่ยวชาญจะให้ผู้ป่วยนั่งในท่าทางที่สะดวกสบายมากที่สุด แล้วเริ่มพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนและนุ่มนวล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และมีความสุข จากนั้นเมื่อสภาพจิตของผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะเปิดกว้าง ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การลดอาการเจ็บปวด หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแพทย์อาจช่วยให้ผู้ป่วยเห็นภาพของตัวเองที่สามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการรับรู้และซึมซับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้น จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายของการรักษา ผู้เชี่ยวชาญจะพูดคุยกับผู้เข้ารับการรักษาในลักษณะคล้ายกับตอนเริ่มต้น เพื่อนำผู้ป่วยออกจากสภาวะสะกดจิต และกลับสู่สภาวะปกติในที่สุด
สะกดจิตไม่เหมาะกับใครบ้าง ?
การสะกดจิตเป็นการรักษาทางจิตที่ทำได้ในคนส่วนใหญ่ แยกเว้นคนบางกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงวิธีการรักษานี้ เพราะอาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่
- ผู้ป่วยจิตเวช
- ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality disorder)
นอกเหนือจากผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้แล้ว หากผู้ป่วยมีอาการของปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ หรืออาการเจ็บป่วยที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็ง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้แน่ใจว่า ผู้ที่จะทำการรักษามีประสบการณ์ในการใช้การสะกดจิตรักษาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
ขณะที่ผู้ป่วยเด็กนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนี้กับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสะกดจิตเด็กในช่วงอายุนั้น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อเด็กได้
สิ่งที่ควรระมัดระวังเกี่ยวกับการสะกดจิต
สะกดจิตถือเป็นวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่ยังไม่มีผลการศึกษายืนยันอย่างแน่ชัดเนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับการสะกดจิตยังเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การสะกดจิตก็ถือเป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจ ทว่าหากผู้ป่วยต้องการลองเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ควรจะเลือกเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่มาตรฐานและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการด้านการสะกดจิตอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียง หรือเกิดความเสียหายรุนแรงที่เกี่ยวกับสุขภาพตามมาในระยะยาว
การรักษาแบบแพทย์ทางเลือกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม และการสะกดจิตก็เช่นกัน ทั้งนี้ต้องทำภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษานี้ส่งผลดีต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยมากที่สุด