ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปจนหลายคนอาจคิดว่าเป็นภาวะเกิดขึ้นตามปกติ แต่แท้จริงแล้ว ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะภาวะนี้อาจส่งผลเสียต่อทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุได้
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุอาจส่งผลต่อกระบวนการคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะดังกล่าวมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว การสูญเสียอวัยวะ การขาดการออกกำลังกายหรือการออกแรง การอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น การอยู่ตัวคนเดียว การสูญเสียคนสนิท ครอบครัวมีประวัติการป่วยด้วยภาวะซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด
แต่ไม่ว่าภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับอาการที่เกิดจากภาวะดังกล่าว และการช่วยให้ผู้สูงอายุรับมือกับภาวะดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
สัญญาณของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
อาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่ผู้ป่วยมักมีอาการต่อไปนี้ อย่างน้อย 5 อาการติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งอาการที่แสดงออกมามีทั้งทางด้านจิตใจและอารมณ์ สุขภาพร่างกาย และพฤติกรรม
- เบื่อหน่าย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว หรือไม่สนใจสิ่งที่เคยชอบทำ
- รู้สึกสิ้นหวัง คิดว่าตัวเองไร้ค่า ล้มเหลว หมดความมั่นใจ มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น
- รู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวลเป็นพัก ๆ
- รู้สึกผิดต่อคนรอบตัว
- ลังเลใจ ไม่สามารถตัดสินใจได้
- ไม่สนใจดูแลตัวเองหรือไม่รับผิดชอบหน้าที่ที่ต้องทำ
- มีปัญหาด้านความจำหรือการตั้งสมาธิ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือมีท่าทีก้าวร้าว
- มีปัญหาในการนอน โดยอาจนอนมากเกินไปหรือนอนไม่หลับ
- เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
- น้ำหนักเพิ่มหรือลดผิดปกติ
- อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา รู้สึกไม่มีแรง
- ปวดหัวบ่อยครั้ง
- คลื่นไส้ ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
- มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือลงมือฆ่าตัวตาย
วิธีรับมือเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
หากสมาชิกในครอบครัวสังเกตเห็นอาการของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ควรเริ่มให้ความช่วยเหลือด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้สูงอายุเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น ผลักดันให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมกับจิตแพทย์ และพูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์จากการรักษาหรือการบำบัดในรูปแบบต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรถามหรือพูดเกี่ยวกับอาการของผู้สูงอายุโดยตรง เช่น ถามผู้สูงอายุว่าคิดว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าหรือไม่ หรือพูดว่าผู้สูงอายุมีอาการเหมือนคนที่ป่วยเป็นซึมเศร้า
ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรสังเกตผู้สูงอายุอยู่เสมอว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งควรช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้สูงอายุ เช่น ช่วยออกไปซื้อของใช้จำเป็น เตือนให้กินข้าวครบทุกมื้อและกินอาหารที่มีประโยชน์ ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย พาไปสถานที่ต่าง ๆ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
นอกจากนี้ ควรพูดคุยกับผู้สูงอายุเป็นประจำ และเปิดช่องทางให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึก ซึ่งอาจช่วยให้ทราบได้ว่าผู้สูงอายุมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือไม่ และช่วยให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุสามารถทำได้หลายวิธี โดยพยายามให้ผู้สูงอายุนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ใช้ยาอย่างระมัดระวัง กำจัดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดความแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและใจในระยะยาว