สาเหตุของภาวะ อ้วน
ภาวะอ้วนสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
พฤติกรรมการบริโภค
เมื่อบริโภคอาหาร ร่างกายจะเปลี่ยนสารอาหารที่ได้รับออกมาในรูปของพลังงานที่มีหน่วยเป็นแคลอรี่ ซึ่งร่างกายของเรามีความต้องการแคลอรี่ต่อวันในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปตามอายุ ระบบการเผาผลาญ และกิจกรรมที่ทำ โดยทั่วไปเพศชายควรได้รับพลังงานประมาณ 2,500 แคลอรี่ และเพศหญิงควรได้รับพลังงานประมาณ 2,000 แคลอรี่
ภาวะอ้วนมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่ ไขมัน และน้ำตาลสูงกว่าที่ร่างกายควรได้รับ เช่น อาหารจานด่วน บุฟเฟ่ต์ ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการไม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่มากเพียงพอด้วย เช่น ผักหรือผลไม้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบย่อยอาหาร
พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ภาวะอ้วนอาจเป็นผลมาจากกิจวัตรประจำวัน ลักษณะนิสัย หรือข้อจำกัดทางสุขภาพอย่างอาการป่วยต่าง ๆ จึงทำให้ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย รวมถึงการขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญแคลอรี่และไขมันน้อยจนเกิดเป็นไขมันสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมาก รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้ร่างกายเกิดความอยากอาหารมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่ก็อาจส่งผลให้มีพฤติกรรมการบริโภคที่มากขึ้น เพื่อทดแทนอาการอยากสูบบุหรี่ จึงอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ภาวะอ้วนได้ อย่างไรก็ตาม การเลิกสูบบุหรี่ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม ผู้ที่มีภาวะอ้วนจากการเลิกสูบบุหรี่จึงควรรักษาภาวะอ้วนและไม่กลับไปสูบบุหรี่อีก
กรรมพันธุ์
พันธุกรรมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจมีผลต่อปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย และแหล่งที่ไขมันถูกส่งไปเผาผลาญเป็นพลังงานภายในร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันให้กลายเป็นพลังงานของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ โรคทางกรรมพันธุ์บางโรคอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะอ้วนได้ เช่น กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ ซินโดรม (Prader-Willi Syndrome) ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกินจุ กินไม่หยุด และมีพัฒนาการช้า
อายุ
ภาวะอ้วนเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย แต่เมื่อร่างกายเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยชรา ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวร่างกายก็อาจลดน้อยลง ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญไขมันได้น้อยลง เมื่อมีการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่สูงและขาดการกำจัดไขมันส่วนเกินออกไปอย่างเหมาะสมตามวัย ก็สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะอ้วนได้ในที่สุด
ปัจจัยทางการแพทย์
ปัจจัยทางการแพทย์อย่างอาการเจ็บป่วยบางอาการหรือโรคบางโรคอาจส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนได้ เช่น ภาวะไฮโปไทรอยด์หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานน้อยลง หรือกลุ่มอาการคุชชิ่งซินโดรม (Cushing Syndrome) ที่ส่งผลให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติโซลสูง เป็นเหตุให้เกิดการสะสมไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า ช่วงท้อง และหน้าอก
นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดก็อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญและการสะสมไขมันจนเกิดเป็นภาวะอ้วน เช่น กลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) กลุ่มยาต้านเศร้า กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน โรคลมชัก และโรคจิตเภทบางชนิด
ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ
ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่สามารถนำไปสู่การเกิดภาวะอ้วน เช่น
- สภาพแวดล้อม เนื่องจากเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิดมีภาวะอ้วน อาจมีแนวโน้มของพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน จนทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมา
- สถานภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานะทางการเงินและสภาพสังคมที่อยู่อาศัยอาจไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการบริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตและบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน อย่างอาหารจานด่วน หรืออาหารขยะที่มีราคาถูกแต่มีไขมันสูง