หายใจไม่ออกตอนนอน รวมสาเหตุและการดูแลรักษา

หายใจไม่ออกตอนนอนเป็นปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเมื่ออยู่ในท่านอนหรือขณะหลับ ซึ่งอาจมีอาการคัดจมูก หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจติดขัด และแน่นหน้าอก บางคนอาจมีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึก เนื่องจากลมหายใจขาดช่วงหรือรู้สึกหายใจไม่ออก อาการหายใจไม่ออกตอนนอนมักจะดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่งหรือยืน

หายใจไม่ออกตอนนอนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนมากจะเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและหัวใจ รวมไปถึงความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ และปัญหาสุขภาพจิต วิธีการดูแลและรักษาอาการหายใจไม่ออกตอนนอนอาจแบ่งเป็นการปรับพฤติกรรม การใช้ยา การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผ่าตัด

หายใจไม่ออกตอนนอน

9 สาเหตุที่ทำให้หายใจไม่ออกตอนนอน

หายใจไม่ออกตอนนอนอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น

1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นกลุ่มโรคที่ปอดและระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเกิดความเสียหาย ตีบแคบ และหายใจได้ลำบาก สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ควัน ฝุ่น หรือสารเคมี และกรรมพันธุ์ 

ผู้ป่วยมักมีอาการของ 2 โรคร่วมกัน คือถุงลมโป่งพอง (Emphysema) และโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออกตอนนอน

2. ปอดบวม (Pneumonia) 

ปอดบวม เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดตตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย หายใจหอบถี่ หายใจลำบาก หายใจไม่ออกตอนนอน เจ็บหน้าอก หนาวสั่น มีไข้ และสับสน

3. ภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารบางอย่างผิดปกติ เช่น ฝุ่นละออง มลพิษ ไรฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ และสะเก็ดผิวหนังสัตว์

ผู้ที่เป็นภูมิแพ้มักหายใจมักออกตอนนอน หรือหายใจมีเสียงหวีด เนื่องจากมีอาการคัดจมูก รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา น้ำตาไหล 

4. โรคหืด (Asthma) 

โรคหืด หรือหอบหืด เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผนังหลอดลม โดยอาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส การสูดดมสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในหลอดลม หรือโรคอื่น ๆ เช่น กรดไหลย้อน ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบง่าย หายใจลำบาก หายใจไม่ออกตอนนอน เจ็บหน้าอก ไอ และหลับไม่สนิท

5. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นภาวะที่ทางเดินหายใจของผู้ป่วยแคบลงหรือถูกปิดกั้นในขณะนอนหลับ ทำให้หายใจไม่ออกตอนนอน นอนกรน หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ และอาจทำให้สะดุ้งตื่นกลางดึกเนื่องจากร่างกายขาดอากาศหายใจไปชั่วขณะ ซึ่งส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่มและอ่อนเพลียในตอนกลางวัน

6. หัวใจวาย

หัวใจวายเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจโดยตรง พฤติกรรม เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง การสูบบุหรี่ การใช้ยาบางชนิด และโรคอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง

ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบากหรือมีเสียงหวีด หายใจไม่ออกตอนนอน ไอ เจ็บหน้าอก มีอาการบวมน้ำตามแขน ขา และหน้าท้อง 

7. โรคอ้วน

ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีโรคอ้วนมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เนื่องจากมีไขมันส่วนเกินในร่างกายอาจไปสะสมในปอด และกดเบียดทางเดินหายใจ ทำให้หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ออกตอนนอน โดยเฉพาะเมื่อนอนหงาย นอกจากนี้ อาจนำไปสู่โรคอื่น เช่น โรคหัวใจ ซึ่งอาจทำให้อาการหายใจลำบากแย่ลง

8. น้ำมูกไหลลงคอ (Postnasal Drip)

น้ำมูกไหลลงคอเกิดจากการที่มีน้ำมูกปริมาณมากและคัดจมูกจากโรคหวัด ไซนัสอักเสบ และภูมิแพ้ ซึ่งทำให้น้ำมูกบางส่วนไหลลงคอกลายเป็นเสมหะ คนที่มีน้ำมูกไหลลงคออาจมีอาการหายใจไม่ออกตอนนอน ไอมีเสมหะทั้งกลางวันและกลางคืน บางคนอาจตื่นขึ้นมากลางดึกได้

9. โรควิตกกังวลและโรคแพนิก

โรควิตกกังวลและโรคแพนิกเป็นโรคจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล เครียด หวาดกลัว และตื่นตระหนกเมื่อเจอสถานการณ์บางอย่าง เช่น ห้องนอนที่ปิดไฟมืดสนิท ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออกตอนนอน หวาดผวา และตื่นขึ้นมาด้วยอาการสำลัก เจ็บและแน่นหน้าอก

การดูแลรักษาอาการหายใจไม่ออกตอนนอน

หากมีอาการหายใจไม่ออกตอนนอน เบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการปรับพฤติกรรม แต่กรณีที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการหายใจขณะหลับ อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาและรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผ่าตัด

การดูแลตัวเอง

การดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการหายใจไม่ออกตอนนอน เช่น

  • นอนหมอนสูงขึ้น โดยนำหมอนอีกใบมาหนุนรองศีรษะ หรือใช้ที่นอนที่สามารถปรับระดับได้ ซึ่งช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และหอบหืด โดยทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะห้องนอนและเครื่องนอน เพื่อไม่เป็นที่สะสมของฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและควบคุมน้ำหนัก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก และหายจากโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจได้เร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
  • จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม

การใช้ยา

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการหายใจไม่ออกตอนนอน มีหลายประเภทตามสาเหตุของอาการ สำหรับโรคที่เกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ยาขยายหลอดลม ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก

รวมไปถึงยารักษาโรคหัวใจ เช่น ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ยาขับปัสสาวะ และยารักษาโรควิตกกังวลและแพนิก

การรักษาด้วยวิธีอื่น

ผู้ป่วยบางคนที่มีอาการรุนแรง หรือรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร อาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น 

  • การใช้เครื่อง CPAP หรือเครื่องอัดแรงดันอากาศผ่านทางจมูกหรือปากขณะหายใจเข้า สำหรับผู้มีปัญหานอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ
  • ออกซิเจนบำบัด สำหรับผู้มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือปอดบวมขั้นรุนแรง
  • จิตบำบัด สำหรับผู้มีโรคจิตเวช
  • การผ่าตัด สำหรับผู้มีโรคหัวใจหรือโรคระบบทางเดินหายใจชนิดรุนแรง

หายใจไม่ออกตอนนอนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน หากดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป และควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการหายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจหอบ ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืดคล้ายจะหมดสติ