อาการคันตามตัวตอนกลางคืน รู้ทันสาเหตุและรับมือให้ตรงจุด

อาการคันตามตัวตอนกลางคืนเป็นอาการทางผิวหนัง ซึ่งผิวมักจะแห้ง แดง ลอก และมีผื่นคัน บางคนอาจมีอาการแสบร้อนหรือเจ็บที่ผิวหนังด้วย อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน ทำให้รู้สึกคันจนต้องตื่นขึ้นมาเกาบริเวณที่มีอาการ หากอาการรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับและส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืนมีหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและอุณหภูมิในร่างกาย อายุที่มากขึ้น ความเครียด ไปจนถึงโรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการคันในตอนกลางคืน ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการคัน ในเบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองและใช้ยาแก้คันเพื่อบรรเทาอาการ 

อาการคันตามตัวตอนกลางคืน รู้ทันสาเหตุและรับมือให้ตรงจุด

6 สาเหตุของอาการคันตามตัวตอนกลางคืน

อาการคันตามตัวตอนกลางคืนอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงตามวงจรการตื่นและการนอนหลับที่เรียกว่า จังหวะเซอร์คาร์เดียน (Circadian Rhythm) โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่มักเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย ความชุ่มชื้นของผิวหนัง และการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน ดังนี้

  • อุณหภูมิของร่างกาย ผิวหนังปล่อยความร้อนของร่างกายออกมา เพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงขณะนอนหลับช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก (NREM) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันผิวได้
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ร่างกายจะปล่อยไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และจะการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ช่วยลดการอักเสบลดลงต่ำสุดในตอนเย็นและตอนเที่ยงคืน ทำให้รู้สึกคันตามตัวตอนกลางคืนได้ 
  • ความชุ่มชื้นของผิว ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้ผู้มีผิวแห้งเกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน 

2. อายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังจะเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน เช่น ผิวชั้นนอกบางลง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันผลิตเหงื่อและน้ำมันน้อยลง ทำให้ผิวแห้งกร้าน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคไต หรือรับประทานยาบางชนิด อาจทำให้ผิวแห้งและคันตามตัวในตอนกลางคืน

3. ความเครียด

ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้หลั่งฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการคันผิวหนังได้ แม้คอร์ติซอลจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยปรับสมดุลของระดับฮิสตามีน แต่ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง ร่างกายจะตอบสนองต่อคอร์ติซอลน้อยลง ทำให้เกิดการอักเสบและคันตามตัวในตอนกลางคืนมากขึ้น

ความเครียดอาจทำให้เกิดอาการคันได้ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน แต่เรามักรู้สึกคันในตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน เนื่องจากการทำกิจกรรมอื่นในตอนกลางวันอาจทำให้เราลืมความรู้สึกคันไปได้

4. แมลงสัตว์กัดต่อย

การถูกสัตว์กัดต่อยในขณะหลับมักทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน เช่น 

  • หิด ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากตัวไรขนาดเล็ก การสัมผัสผิวหนังของผู้มีเชื้อหิดโดยตรง หรือสัมผัสเสื้อผ้า และที่นอน อาจทำให้เกิดผื่นแดง มีตุ่มน้ำใส มักพบตามง่ามนิ้ว รักแร้ และข้อพับ และทำให้เกิดอาการคันตามตัว โดยเฉพาะเวลากลางคืน
  • ตัวเรือด เป็นแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนที่นอน มักกัดและดูดเลือดคนเป็นอาหารในตอนกลางคืน ทำให้เกิดเป็นตุ่มหรือผื่นแดง และมีอาการคัน

5. โรคผิวหนัง

โรคผิวหนังหลายชนิดทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งอาการคันมักเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน หรืออาจเห่อขึ้นในตอนกลางคืน เช่น

  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือการได้รับสารกระตุ้น เช่น อาหาร มลภาวะ ทำให้เกิดผื่นแดง ผิวแห้งลอก และมีอาการคัน
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวผิดปกติ จึงทำให้ผิวแดง เป็นผื่นหนาบริเวณหนังศีรษะ แขน ขา และตามลำตัว ผิวแห้งลอก มีอาการคันและรู้สึกร้อนทึ่ผิวหนัง 
  • ลมพิษ (Hives) เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในชีวิตประจำวัน เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลง อาหาร ยา ละอองเกสรพืช หรืออาจเกิดจากการโรคประจำตัว เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) ทำให้เกิดเป็นผื่นบวมนูนสีแดงได้ทั่วร่างกาย และรู้สึกคันมาก

6. โรคประจำตัวอื่น ๆ

ปัจจัยด้านสุขภาพ และโรคประจำตัวบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืนได้ เช่น 

รับมืออาการคันตามตัวตอนกลางคืน

การรักษาอาการคันตามตัวตอนกลางคืนจะแตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ทั้งนี้ การดูแลตัวเองเมือเกิดอาการคันตอนกลางคืนทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการแกะและเกาผิวหนัง เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการคันและอักเสบที่ผิวหนังมากขึ้น หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • สวมชุดนอนที่ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งมีเนื้อผ้านุ่มและระคายเคืองผิวน้อยกว่าผ้าใยสังเคราะห์
  • อาบน้ำอุ่น โดยผสมเบคกิ้งโซดา หรือข้าวโอ๊ต ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคันและอักเสบของผิว โดยไม่แช่น้ำนานเกินไป หรืออาบน้ำร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • ใช้สบู่และครีมทาผิวที่ไม่มีน้ำหอมและแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งและคันมากขึ้น ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวทุกครั้งหลังอาบน้ำ โดยเฉพาะก่อนนอน ซึ่งจะช่วยป้องกันผิวแห้งและคันในตอนกลางคืน รวมทั้งประคบเย็นที่ผิว ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
  • หากในห้องนอนมีอากาศแห้ง ควรใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ เพื่อให้อากาศในห้องไม่แห้งจนเกินไป และช่วยป้องกันผิวแห้งและคัน
  • ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้เย็นสบาย การนอนหลับในห้องนอนที่มีอากาศร้อนจะกระตุ้นให้เกิดอาการคันมากขึ้น
  • ทำความสะอาดห้องนอน พรม ผ้าม่าน ที่นอน หมอน และผ้าห่มเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น ไรฝุ่น และแมลง 

นอกจากนั้น อาจทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น นั่งสมาธิ และเล่นโยคะ ซึ่งจะช่วยลดอาการคัน ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิทมากขึ้น

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามวิธีข้างต้นแล้ว อาการคันตามตัวตอนกลางคืนยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา ซึ่งแพทย์อาจให้ยาบรรเทาอาการคันตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น

  • ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ใช้รักษาอาการคันจากโรคภูมิแพ้ ซึ่งเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อสิ่งแปลกปลอม โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้ง่วงนอน เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น เซทิไรซีน (Cetirizine)
  • ยาต้านเศร้า เช่น เมอร์เทซาปีนwww.pobpad.com/mirtazapine-เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) และด็อกเซปิน (Doxepin) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคันตามตัวตอนกลางคืน
  • ยาทาผิวที่มีสารสเตียรอยด์ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ที่ช่วยลดอาการคันผิวหนังเฉพาะจุด

หากมีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น โรคตับ โรคไต และโรคทางจิต แพทย์จะรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ซึ่งอาจช่วยรักษาอาการคันตามตัวตอนกลางคืนได้

อาการคันตามตัวตอนกลางคืนทำให้รู้สึกไม่สบายตัว รบกวนการนอนหลับ และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต หากดูแลตัวเองแล้วอาการคันยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย และมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา