การแนะนำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Depression) ไปเข้าวัดหรือนั่งสมาธิเพื่อคลายความเศร้าและความหดหู่อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่หลายคนนึกถึงเมื่อต้องการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยซึมเศร้า แม้คำแนะนำเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากความปรารถนาดี แต่อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก และยังอาจสะท้อนถึงการขาดความเข้าใจต่อผู้ป่วยอีกด้วย
เพราะอาการของผู้ป่วยซึมเศร้านั้นไม่เหมือนกับอารมณ์เศร้าของคนปกติทั่วไปที่จะจางหายไปเมื่อผ่านเวลาไประยะหนึ่ง แต่มีความรุนแรงและยาวนานกว่าจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยที่ต่างกันออกไป ความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และการเยียวยาจิตใจจากคนรอบข้างจึงมีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟันฝ่าและหลุดพ้นจากโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
ทำความเข้าใจสาเหตุของโรคซึมเศร้า
เคยสงสัยไหมว่า อาการซึมเศร้าอย่างวิตกกังวล เศร้า เหนื่อยล้าตลอดเวลา โดดเดี่ยว สิ้นหวัง มีทัศนคติในแง่ลบ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด ไปจนถึงคิดฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากอะไรกันแน่
อันที่จริง การเกิดภาวะซึมเศร้านั้นมีความซับซ้อนและสามารถประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เป็นไปได้ การรู้สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าดังต่อไปนี้อาจช่วยให้เข้าใจผู้ป่วยซึมเศร้าได้ดียิ่งขึ้น
การทำงานของสมอง
เราอาจเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่าภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมดุลสารเคมีในสมอง (Neurotransmitters) ที่มีมากหรือน้อยเกินไป แต่ปัจจุบันยังมีการคาดการณ์ถึงต้นเหตุที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นก็คือการเชื่อมต่อและการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทบริเวณสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)
ยิ่งผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า การเติบโตในส่วนนี้ก็ยิ่งมีน้อยลง ซึ่งหากในอนาคตมีการศึกษาที่ชัดเจนขึ้นก็อาจช่วยให้รักษาอาการซึมเศร้าได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
พันธุกรรม
ภาวะซึมเศร้าถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมที่ทำหน้าที่คอยควบคุมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่สมอง เมื่อพันธุกรรมทำงานผิดปกติไป ร่างกายก็เปลี่ยนไปซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย
ลักษณะนิสัยเฉพาะตัวบางประการก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง นักจิตวิทยาชี้ว่าทัศนคติและมุมมองต่อโลกจะส่งผลต่อความรู้สึกของเราเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้ที่มีทัศนคติในทางลบ เช่น ไม่มั่นใจในตัวเอง วิตกกังวลง่าย หรือชอบตำหนิตัวเองและผู้อื่น จะมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะนี้ง่าย
เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต
การสูญเสีย เจ็บป่วย ตกงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ เผชิญความรุนแรง หรือถูกคุกคามทางเพศ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเศร้าขึ้น ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือและแก้ปัญหาเหล่านี้ต่างกัน แต่สำหรับผู้ที่มีลักษณะนิสัยอ่อนไหวต่อสิ่งกระทบนั้น ความเศร้าและความเสียใจต่าง ๆ อาจมีความรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้
อาการเจ็บป่วย
โรคที่ร้ายแรงและเรื้อรังสามารถนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยได้ในที่สุด มีโรคจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ได้แก่ โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ภาวะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ หรือโรคมะเร็ง
การใช้ยารักษาโรคบางชนิด
ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้า เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคความดันโลหิต ดังนั้น หากใช้ยาใด ๆ แล้วมีอาการของภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยควรต้องพบแพทย์โดยเร็ว
เมื่อคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าควรทำอย่างไร
เนื่องจากโรคซึมเศร้าอาจเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อนและคาบเกี่ยวกันหลายประการ ผู้คนรอบตัวของผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจว่า ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าอาจไม่สามารถเยียวยาตนเองหรือปรับความคิดให้เป็นไปในแง่ดีได้อย่างง่ายดายนัก
ดังนั้น จึงไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกเครียด เข้าวัด หรือหากิจกรรมอื่นทำ หากแต่ควรดูแลเอาใจใส่ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามแนวทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เช่น การใช้ยาต้านซึมเศร้า การบำบัดด้วยการพูดคุย และการรักษาด้วยการกระตุ้นเซลล์สมองและประสาท
โดยบุคคลรอบข้างถือเป็นกำลังใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยต่อสู้และผ่านภาวะนี้ไปได้ การช่วยเยียวยาและดูแลจิตใจของผู้ป่วยอาจทำได้ดังนี้
- ให้กำลังใจ ทำความเข้าใจ และอดทนต่อผู้ป่วย
- เนื่องจากผู้ป่วยต้องการคนรับฟัง จึงอาจคอยพูดคุยและรับฟังผู้ป่วย โดยหลีกเลี่ยงคำพูด เช่น “สู้ ๆ” “ทำไมแค่นี้ทำไม่ได้” “แค่นี้ยอมแพ้แล้วหรือ” “แย่จัง”
- พยายามให้พวกเขาเห็นถึงความเป็นจริงและมีความหวัง ย้ำให้มั่นใจว่าเวลาและการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยได้แน่นอน
- ชวนผู้ป่วยไปทำกิจกรรมที่ชอบ แต่หากผู้ป่วยไม่อยากไปก็ไม่ควรกดดันหรือฝืนใจให้ทำ
- ให้การช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกในการนัดหมายแพทย์ให้
- ไม่ควรเพิกเฉยหากผู้ป่วยกล่าวเรื่องการฆ่าตัวตาย ควรรีบแจ้งนักบำบัดหรือแพทย์ผู้ดูแลทันที
วิธีดูแลจิตใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหล่านี้เป็นเพียงคำแนะนำบางส่วนที่อาจช่วยประคับประคองผู้ป่วยให้ผ่านพ้นโรคซึมเศร้าไปได้ หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวและจะใช้พูดอย่างไรกับผู้ป่วยโรคนี้ดี อาจไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเพื่อขอคำแนะนำในการปฏิตัวและช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างถูกต้องและเหมาะสม